Uncategorized

ตามไปดูการใช้เทคโนโลยียกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างรอยยิ้มให้กับผู้สูงวัยที่อาศัยอยู่ตามลำพังในเชียงใหม่

04 ตุลาคม 2564


จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ประเทศไทยมีประชากรผู้สูงวัยอยู่ที่ราว 13 ล้านคน และในจำนวนนี้ มากกว่า 1 ใน 3 อาศัยอยู่ตามลำพังคนเดียวหรือกับคู่สมรส ปัจจัยดังกล่าวส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยอย่างมีนัยสำคัญ และสร้างความท้าทายเป็นอย่างยิ่งต่อภาคเศรษฐกิจและสังคม ในยามที่ประเทศไทยกำลังจะก้าวไปเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับ “สุดยอด[1]” ในอีกราวสิบปีข้างหน้า

ผู้สูงวัยอาศัยตามลำพัง

อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ นับเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีผู้สูงวัยอาศัยอยู่ตามลำพังหลายร้อยคน พวกเขาถูกทอดทิ้งจากบุตรหลานหรือไม่ได้รับความดูแลเท่าที่ควร ส่งผลให้คุณภาพชีวิตถดถอย จนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มูลนิธิและภาคประชาสังคมต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ หนึ่งในนั้นคือกุญศา ชัยกุหลาบ อดีตนักสังคมสงเคราะห์อิสระชาวเชียงราย ผู้ซึ่งที่มีบทบาทด้านสังคมสงเคราะห์ในพื้นที่อำเภอสารภี โดยเธออุทิศชีวิตเพื่องานพัฒนาสังคมมานานกว่า 20 ปีแล้ว

กุญศาย้ายจากบ้านเกิดในจังหวัดเชียงรายมายังเชียงใหม่ เพื่อทำงานด้านพัฒนาสังคม โดยเริ่มแรกเธอทำงานให้กับมูลนิธิแห่งหนึ่งที่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาเด็กกำพร้าผู้ซึ่งพ่อแม่นั้นเสียชีวิตจากการติดเชื้อเอชไอวี โดยเธอทำหน้าที่รับผิดชอบด้านการมอบทุนการศึกษาและการอุปการะ ภายหลังเธอได้รับเงินทุนสนับสนุนจากผู้ใจบุญชาวต่างชาติให้ทำหน้าที่ช่วยเหลือคนพิการในจังหวัดเชียงใหม่ และดูแลผู้สูงวัยที่อาศัยอยู่ตามลำพัง

 

“การเข้าไปช่วยเหลือผู้สูงวัยที่อาศัยอยู่ตามลำพัง หรือที่บางคนเรียกว่า ‘คนแก่ไร้ญาติ’ นั้น เกิดจากการเห็นสภาพปัญหาด้วยตัวเอง ในห้วงสุดท้ายของชีวิต ผู้สูงวัยจำนวนมากต้องไปรับจ้างเก็บลำไยมีรายได้วันละ 200 บาท หรือเก็บขยะขายเพื่อการดำรงชีพ พวกเขาอาศัยอยู่ในกระท่อมเล็กๆ ห่างไกลไฟฟ้าและน้ำกินน้ำใช้ ขาดเครื่องอุปโภคบริโภคไว้ดำรงชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นภาพที่น่าหดหู่ทีเดียว” กุญศากล่าว ก่อนจะเสริมว่าเธอเองก็เป็นหนึ่งในประชากรเหล่านี้

สร้างรายได้จากงานคราฟต์

ปัจจุบัน กุญศาอายุ 59 ปี อาศัยอยู่ที่หอพักในอำเภอเมืองเชียงใหม่ กับสุนัขอีก 3 ตัว โดยหลังออกจากงานสังคมสงเคราะห์ เธอหันมายึดอาชีพหัตถกรรมประดิษฐ์กระเป๋าถักขาย ซึ่งเป็นทักษะที่ติดตัวมาจากคุณแม่ของเธอ และจากการช่วยงานผลิตสินค้าหัตถกรรมที่มูลนิธิฯ เพื่อระดมทุน

“ป้าใช้วิธีการเปิดยูทูปดูเอาว่าเขาทำยังไง ใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง จากนั้นก็ซื้อของมาประดิษฐ์ ซึ่งถือว่าได้รับผลตอบรับที่ดี ทั้งขายส่งร้านกระเป๋า ฝากขายร้านเพื่อน หรือแม้กระทั่งไปตั้งขายที่ตลาดนัดท่าแพ แค่นี้ก็ทำกันไม่หวาดไม่ไหวแล้ว”

ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะที่ไม่มีใครเหมือนและฝีมืออันประณีต กระเป๋าถักนั้นสร้างรายได้เลี้ยงชีพให้กับกุญศาซึ่งอาศัยอยู่ลำพัง อย่างไรก็ดี เนื่องด้วยลูกค้าหลักของเธอนั้นเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยว เมื่อคลื่นแห่งโรคระบาดถาโถมเข้ามา รายได้ของเธอก็ค่อยๆ ร่อยหรอลงจนเหลือเป็นศูนย์ ซึ่งจังหวะนั้นเอง กุญศาเล็งเห็นโอกาสของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อรับมือกับวิกฤต

“มีอยู่วันนึง ป้าเล่นเฟซบุ๊กแล้วเห็นประกาศโครงการดีแทคเน็ตทำกิน ด้วยความที่ป้าเป็นลูกค้าดีแทคมากว่า 20 ปี เลยตัดสินใจเข้าร่วมสมัครกับเขาด้วย อยากลองดูว่าจะสามารถหารายได้จากช่องทางออนไลน์ได้จริงหรือเปล่า” กุญศาเล่าย้อนไป

ออนไลน์ยกระดับคุณภาพชีวิต

กุญศาได้รับเลือกให้เข้าร่วมโครงการดีแทค เน็ตทำกิน และมีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับทักษะการใช้งานช่องทางออนไลน์ กลยุทธ์การตลาดบนโซเชียลมีเดีย ไปจนถึงการออกแบบคอนเทนต์ จากโพสต์แรกของเธอซึ่งมียอดผู้กดไลก์เป็นศูนย์ ปัจจุบันช่องทางออนไลน์นั้นช่วยให้เธอสามารถสร้างรายได้เสริมเฉลี่ยราว 15,000 บาทต่อเดือน

“โค้ชทีมเน็ตทำกินให้คำแนะนำดีมาก กระตุ้นให้ป้าทำคอนเทนต์เยอะๆ โพสต์บ่อยๆ จากแรกๆ โพสต์อะไรไปไม่มีคนไลค์ จนต่อมาเริ่มเห็นผล คนเริ่มเห็นตัวตนเรา เราเลยตระหนักว่าออนไลน์นั้นคือโอกาส” กุญศากล่าวพร้อมรอยยิ้ม

และเมื่อยอดขายกระเป๋าเริ่มตกลง กุญศาเริ่มเห็นโอกาสใหม่ นั่นคือการขายต้นไม้ออนไลน์ที่กำลังเป็นกระแสในตอนนี้ ทำให้เธอเปลี่ยนทิศทางหันมาใช้เฟซบุ๊กแฟนเพจของเธอในการโปรโมทต้นไม้ ซึ่งช่วยสร้างรายได้ทดแทนยอดขายกระเป๋าที่หายไป

“ออนไลน์ช่วยเปิดโลกใหม่ให้กับผู้สูงอายุ ได้มีรอยยิ้ม มีรายได้ ยิ่งกับคนแก่ไร้ญาติที่อยู่ตัวคนเดียวแล้ว ออนไลน์นั้นมีความสำคัญทั้งในเชิงรายได้ และการเข้าถึงนโยบายต่างๆ ที่รัฐจัดหาให้ อาทิ คนละครึ่ง ทำให้คนแก่อย่างป้าไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เทคโนโลยีดิจิทัลและการเชื่อมต่อนั้นช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตได้จริง” กุญศาทิ้งท้าย