เชื่อว่าสมาชิก Netflix หลายๆ คนคงพอจะรู้จัก หรือบ้างอาจถึงขั้นเป็นแฟนคลับ Black Mirror ซีรีส์ที่เชิญชวนคนดูไป ‘ดู’ ความเป็นไปได้นับร้อยพันของโลกที่เทคโนโลยีเข้ามาข้องเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์อย่างยากจะแยกกันได้ขาด
ซีรีส์ Black Mirror แต่ละตอนต่างเล่าเรื่องอันเป็นเอกเทศ นั่นคือเริ่มในตอน จบในตอน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตอนอื่นๆ ที่ผ่านมา หรือต่อเนื่องยืดยาวหลายตอนจบ Black Mirror ได้สร้างสมมติฐานสนุกๆ ที่ไม่เพียงแต่จะชวนให้เราได้ตั้งคำถามต่อบทบาทของเทคโนโลยีในชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่บางตอนก็สะท้อนให้เห็นว่า หากวันหนึ่งเทคโนโลยีเกิดมีอิทธิพลถึงระดับที่สามารถเข้ามากำหนดชะตาชีวิตมนุษย์ขึ้นมาล่ะ แล้วเราจะอยู่กันอย่างไร
หนึ่งในตอนที่เรามองว่าแสดงแนวคิดนี้ได้อย่างน่าสนใจ คือตอนหนึ่งในซีซั่นที่ 4 ที่ชื่อ Hang the DJ
เล่าอย่างย่อ Hang the DJ เล่าเรื่องราวความรักของเอมี่กับแฟรงค์ หญิงสาวและชายหนุ่มที่อยู่มาวันหนึ่งต้องมาเป็นคู่เดทกันผ่านการกำหนดของอัลกอริธึมที่ชื่อว่า ‘The System’ ลองคิดง่ายๆ ว่า The System ก็คล้ายๆ กับแอปพลิเคชั่นหาคู่อย่างทินเดอร์ แต่แทนที่เราจะมีสิทธิได้ ‘เลือก’ หรือ ‘ไม่เลือก’ ผ่านการปัดซ้ายและขวา ทว่ากับ The System ระบบจะเป็นฝ่ายเลือกคู่เดทมาให้เราเอง โดยอ้างว่าคู่ที่เลือกมานี้จะเป็นประโยชน์ต่อการจัดหาคู่เดทคนใหม่ๆ ที่เราจะได้พบเจออีกเรื่อยๆ ในอนาคต เพื่อที่สักวันหนึ่ง เมื่อเราเดทกับคนรักจัดสรรเหล่านี้มากพอ ระบบจะนำประวัติการเดทของเราทั้งหมดเพื่อคนหา ‘คู่แท้’ ของเราในท้ายที่สุด
เอมี่กับแฟรงค์คือคู่รักจัดสรรที่จำเป็นต้องมาเดทกันตามที่ระบบกำหนด พวกเขาไม่เคยรู้จักหน้าค่าตากันมาก่อน แต่ก็ต้องเล่นไปตามกิจกรรมต่างๆ ที่ The System กำหนดด้วยคิดว่านั่นคงจะส่งผลดีต่อชีวิตรักของพวกเขาในอนาคต พวกเขาดินเนอร์กันด้วยเมนูอาหารที่ระบบจัดแจงไว้ให้ เดินทางไปยังบ้านหลังเล็กๆ ที่ระบบจัดเตรียมไว้ พวกพูดคุย หัวเราะ นอนจับมือกันบนเตียงอุ่นๆ ตลอดค่ำคืนนั้น แต่แล้วเมื่อถึงอีกวัน พวกเขาก็จำเป็นต้องโบกมือลาอย่างจำใจเพราะ The System กำหนดให้ระยะเวลาการเดทของพวกเขายาวนานแค่ 12 ชั่วโมงเท่านั้น
‘เวลา’ คืออีกปัจจัยสำคัญที่ระบบเข้ามาจัดการความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักจัดสรร กล่าวคือ นอกจากพวกเขาจะไม่มีสิทธิในการจะเลือกคู่เดทแล้ว พวกเขายังไม่มีสิทธิในเรื่องของระยะเวลาที่จะอยู่ด้วยกัน และไม่ว่าคุณจะรัก หรือชังคู่รักจัดสรรคนหนึ่งๆ สักแค่ไหน แต่หาก The System กำหนดเวลามาให้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นสามชั่วโมง หรือห้าปี คุณก็จำต้องอยู่กับคู่รักคนนั้นๆ ไปอย่างไม่อาจแยกขาดจากกันได้ ทุกพฤติกรรมต้องดำเนินไปอย่างเคร่งครัดตามที่ระบบกำหนดไว้แล้ว
เอมี่กับแฟรงค์เองก็ด้วย เพราะแม้ทั้งคู่จะต่างแน่ใจตั้งแต่ที่เจอกันในเดทแรกว่า เขา/เธอนี่แหละคือคู่แท้ที่เฝ้ารอ เพียงแต่เมื่อ The System บอกให้ทั้งสองแยกกัน พวกเขาก็เลือกที่จะแยก เพื่อจะหันไปลองเดทกับคู่รักจัดสรรคนอื่นๆ ด้วยไม่กล้าที่จะขัดขืนหรือกระทั่งตั้งคำถามต่อคำสั่งจากระบบ
Hang the DJ แสดงให้เราเห็นถึงบทบาทของเทคโนโลยีที่เข้ามาจัดการวิถีชีวิตมนุษย์อย่างละเอียดอ่อน โดยเฉพาะในด้านความรัก เพราะแทนที่จะปล่อยให้การเลือกจะรักใครสักคนเป็นเรื่องที่วางอยู่บนความเสี่ยง The System กลับเข้ามาบริหารความเสี่ยงนั้นแต่ต้น โดยเปลี่ยนให้มนุษย์ได้ทดลองอยู่ในความสัมพันธ์ใหม่เรื่อยๆ เพื่อจะได้เก็บสถิติจากพฤติกรรมที่พวกเขาสนองตอบต่อคู่รักแต่ละคน ก่อนที่จะนำสถิติที่ได้ไปคัดกรองและจัดสรรคู่รักที่ลงตัวที่สุดให้กับพวกเขา หากทว่าแต่ตอนหนึ่งในหนัง เอมี่ซึ่งทีแรกก็ดูจะศรัทธาใน The System แต่เมื่อผ่านการเดทซ้ำๆ จนคล้ายจะเริ่มเบื่อหน่าย เธอก็เล่าถึงสมมติฐานหนึ่งที่นึกขึ้นมาได้ว่า เป็นไปได้ไหมหากสิ่งที่ระบบอ้างว่าทำไมเพื่อเก็บสถิติจริงๆ แล้วก็แค่การหลอกให้มนุษย์ได้มีความรักไปเรื่อยๆ จนเมื่อวันหนึ่งที่พวกเขาเหนื่อยล้า ระบบก็อาจจัดสรรคู่รักปลอมๆ ขึ้นมาอีกคน แล้วหลอกว่านี่แหละคู่แท้ของคุณ โดยที่เราเองก็ย่อมจะเออออยอมตามเพียงเพราะเหนื่อยล้าต่อกิจวัตรเดิมๆ ของการต้องมาพบรักใหม่ๆ อีกครั้ง
พ้นไปจากประเด็นนี้ Hang the DJ ยังสะท้อนให้เราเห็นขั้นสุดของเดทติ้งแอปพลิเคชั่นที่เราคุ้นเคยกันในตอนนี้ ว่าหากวันหนึ่ง ถ้าเราเกิดไม่ได้มีสิทธิใดๆ ในการเลือกคู่เดทขึ้นมา ชีวิตจะง่ายดายขึ้นหรือเปล่า หรือถึงที่สุดมันจะกลับมาสร้างความอึดอัดใจเสียมากกว่ากับอิสรภาพที่มนุษย์ค่อยๆ สูญเสียไปเรื่อยๆ และซึ่งจะว่าไปแล้ว เราอาจไม่ต้องเดินทางไปยังอนาคตอันห่างไกลหรอก เพราะหากพิจารณาจากปัจจุบันที่มนุษย์ต่างก็ปฏิสัมพันธ์ผ่านเทคโนโลยีอย่างเป็นเรื่องปกติ เราก็ไม่อาจแน่ใจได้อีกต่อไปแล้วว่าการกระทำ คำพูด หรือทัศนคติใดๆ ของเราจะไม่ถูกจะไม่ถูกสอดส่อง หรือเก็บรวบรวมเป็นสถิติ?
ด้วยข้อมูลต่างๆ ที่เราพิมพ์โพสต์ลงไปบนโซเชียลมีเดียต่างถูกทำสำเนาไว้แล้ว และซึ่งเป็นข้อมูลเหล่านี้เองที่อัลกอริธึมได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเองให้เข้าใจมนุษย์และตัวเรามากขึ้น กระทั่งทินเดอร์เองที่เราเชื่อว่ามีอิสระอย่างเต็มที่ในการเลือกคนที่คิดว่าใช่ ทว่าถึงที่สุดแล้ว อัลกอริธึมของทินเดอร์ก็ได้ทำการ ‘กรอง’ คนที่น่าจะใช่มาให้เราแล้วส่วนหนึ่ง บดบังความเป็นไปได้อีกไม่รู้สักเท่าไหร่ของคนที่ไม่น่าจะใช่โดยที่เราไม่แม้แต่จะมีโอกาสได้เห็นหน้า หรืออ่านข้อมูลใดๆ ของเขาเลยด้วยซ้ำ
บางคนอาจมองเรื่องนี้ว่าง่าย และสะดวกดี แต่บ้างก็อาจมองว่า คำตัดสินของอัลกอริธึมเชื่อถือได้ขนาดนั้นเลยหรือ? ถึงที่สุดแล้วเรื่องนี้ก็คงต้องถกเถียงกันต่อไป ทว่าความจริงหนึ่งที่ยากจะปฏิเสธได้นั่นคือ โลกที่เทคโนโลยีเข้ามาคัดสรรคู่รักให้กับมนุษย์อย่างใน Hang the DJ อาจอยู่ใกล้ตัวเรากว่าที่คิดก็เป็นได้