ในช่วงล็อคดาวน์จาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา หลายคนต้องทำงานที่บ้าน หยุดการเดินทางไปชั่วขณะ แต่มีมดงานกลุ่มหนึ่งที่ยังต้อง “เดินทาง” เพื่อให้เราสามารถติดต่อ “สื่อสาร” กันได้อยู่ นั่นคือ “ทีมขายประจำภูมิภาค” หรือ Regional Sales
dtac blog ได้มีโอกาสลงพื้นที่ภาคใต้ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อพูดคุยกับทีมขายที่ประจำอยู่ที่สงขลา นำโดยคุณเอก – วัยโรจน์ อะฮ์ลีย์ตักวา หัวหน้าผู้ดูแลงานขายในส่วนพรีเพด 14 จังหวัดภาคใต้ พร้อมด้วย คุณปัถย์ จิตตะปาโณ หัวหน้าฝ่ายขายส่วนพรีเพดประจำจังหวัดสงขลา และคุณหนอน – รื่นรวย ศรีแก้ว หัวหน้าฝ่ายขายส่วนโพสต์เพดประจำจังหวัดสงขลา
“เราแบ่งงานขายและการบริการลูกค้าเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือการกระจายสินค้า ซึ่งมีทีมผมเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการกระจายสินค้า ได้แก่ ซิม บัตรเติมเงิน และออนไลน์ ให้กับช่องทางจำหน่าย ซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นร้านค้าท้องถิ่น เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงตามความต้องการได้ง่าย ขณะที่คุณหนอนซึ่งดูแลในส่วนของศูนย์บริการดีแทคจะเน้นที่งานบริการลูกค้าเป็นหลัก” คุณเอกอธิบายโครงสร้างการทำงานของทีมขายภูมิภาค
ปีที่แล้ว เฉพาะสงขลามีการตั้งเสาเพิ่มทั้งสิ้น 52 เสา ซึ่งถือว่าฟูลฟิลไปได้เยอะ ซึ่ง TG มีแผนโรลเอาท์ ดีกว่าเก่า หลายครั้งที่เจอ ทำให้ช่วงปลายปีที่แล้วยอดขายดีขึ้นมากในหลายพื้นที่
ปัจจุบัน ลูกค้าดีแทคภาคใต้มีการใช้งานโทรศัพท์ที่หลากหลายตามแต่พื้นที่ อย่างหัวเมืองอย่างสงขลามีการใช้งานคล้ายคลึงกับคนกรุงเทพฯ มีสัดส่วนรายได้เป็นพรีเพดและโพสต์เพดเกือบครึ่งๆ ขณะที่จังหวัดเมืองรองหลายจังหวัดยังมีสัดส่วนของรายได้จากลูกค้าโพสต์เพดมากกว่า
“ซิมเป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการใช้บริการเท่านั้น สิ่งที่ทีมขายทำก็คือการผลักดันโปรเสริม เพื่อให้ลูกค้าเกิดการใช้งานได้อย่างคุ้มค่ามากขึ้น อย่างปัจจุบัน การแข่งขันในแต่ละท้องที่รุนแรงและรวดเร็วมากขึ้น ดังนั้น ดีแทคเองก็ต้องสู้กลับให้เร็วขึ้น โดยมีเป้าหมายออกโปรสู่กลับทันทีภายใน 24 ชั่วโมง” พี่เอกกล่าวเสริม
มากกว่าคนขายซิม
แม้หน้าที่หลักของทีมเซลคืองานขายและบริการ ตลอดจนกระจายสินค้าเพื่อให้ถึงมือลูกค้า แต่สิ่งที่มากกว่านั้นคือ “ความเข้าใจพฤติกรรมลูกค้า” อย่างลึกซึ้ง เพราะต่างจังหวัดมีลักษณะโครงสร้างและค่านิยมสังคมที่แตกต่างกับในเมืองอย่างมีนัยสำคัญ
“เดิมทีในพื้นที่ภาคใต้มีช่องว่างทางดิจิทัลพอสมควร คนรุ่นเก่ายังปฏิเสธการใช้สมาร์ทโฟน แต่ในช่วง 2 ปีให้หลังมานี้ พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก ในแต่ละชุมชนจะมีกลุ่มไลน์ที่มีสมาชิกของชุมชนอยู่ เพื่อแจ้งข่าวสารกัน ซึ่งมีผู้นำชุมชนเป็นผู้สร้างกลุ่มขึ้นมา อย่างช่วงโควิด- 19 กลุ่มไลน์ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ได้เข้ามามีบทบาทในการให้ความรู้ด้านสาธารณสุข การแจ้งข่าวสารเกี่ยวกับการเดินทางของคนต่างถิ่น เพื่อเป็นการเฝ้าระวังการกระจายของเชื้อไวรัสโคโรนา” คุณหนอนอธิบาย
คุณปัถย์ เล่าเสริมว่า ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 คือ การไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะชุมชนรอบนอก เนื่องจากไม่มีความรู้ในการใช้อินเทอร์เน็ตเบื้องต้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ทางดีแทคได้รับการชักชวนจากร้านค้าท้องถิ่นให้ไปช่วยให้ความรู้กับคนในชุมชนผ่านความร่วมมือกับศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความประทับใจในการทำหน้าที่ของตัวเองในการให้ความรู้กับชาวบ้าน อย่างน้อยก็ช่วยให้พวกเขาสามารถติดต่อสื่อสารกับลูกหลาน เข้าถึงความบันเทิงแก้เหงาในแต่ละวันของเขา ท่ามกลางความตึงเครียดของโรคระบาดได้
ความสุขที่มากกว่าตัวเลข
“สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานมากว่าสิบปีกับดีแทคคือคุณค่าในการทำงานที่มากกว่าเงินเดือน แต่การทำให้คนในชุมชนรอบนอก คนต่างจังหวัดสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้” พนักงานดีแทคทั้งสามคนกล่าวเป็นเสียงเดียวกัน
หลายเหตุการณ์ได้พิสูจน์ว่า ดีแทคเป็นมากกว่าผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต อย่างเหตุการณ์มหาอุทกภัยปี 2554 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ หลายพื้นที่ตัดขาด สิ่งที่ดีแทคทำคือ ยืดเวลาชำระค่าบริการ แถมยังเติมเงินให้ฟรีด้วย นอกจากนี้ ยังซื้อของไปบริจาคไปชุมชนต่างๆ ของภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบอย่าง พัทลุง นครศรีธรรมราช และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้จะเข้าไปยากเพียงใด ไฟจะดับ ถนนถูกตัดขาด ชาวดีแทคก็ร่วมใจกันเดินทางโดยได้รับการสนับสนุนจากส่วนกลาง ซึ่งทันทีที่ไปถึง ชาวบ้านต่างดีใจกันถ้วนหน้า
“พวกเขาเป็นมากกว่าลูกค้า แต่พวกเขาคือพ่อแม่พี่น้อง เป็นคนในครอบครัว การที่ได้เข้าถึงอินเทอร์เน็ต น่าจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขาได้ดีมากขึ้น และนี่เสน่ห์ของการทำงานที่ได้คลุกคลีกับวิถีชีวิตชาวบ้านในต่างจังหวัด ซึ่งมีโครงสร้างทางสังคมที่แน่นแฟ้นกันมาก เป็นความสุขในการทำงานที่มากกว่าตัวเลข”
คุณปัถย์ กล่าว
เรื่องราวระหว่างทาง
ด้วยหน้าที่การทำงานที่ต้องเดินทาง ใช้ชีวิตนอกออฟฟิศเป็นส่วนมาก ทำให้พวกเขาทั้งสามคนพบเจอกับ “ความสวยงามระหว่างทาง” ที่ไม่ใช่แค่วิวทิวทัศน์ แต่คือความสวยงามของชีวิต
คุณเอก เล่าว่า เขาทำงานที่ดีแทคในพื้นที่ภาคใต้มากกว่า 20 ปี ภาคใต้มีความสวยงามและอุดมสมบูรณ์ที่หลายคนยังไม่เคยสัมผัสอย่างหาดปากบารา จังหวัดสตูล ป่าพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส ที่วิวทิวทัศน์สวยงามเป็นเอกลักษณ์ หาจากที่อื่นไม่ได้
“หลายคนอาจนึกถึงภาคใต้ในเรื่องของความไม่สงบ แต่นั่นเป็นเพียงหนึ่งมุมเท่านั้น ผมเองเป็นคนปัตตานีโดยกำเนิด พ่อผมเป็นตำรวจและเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบ แต่ผมคิดว่านั่นเป็นจังหวะชีวิตของคน ผมเองก็เคยประสบเหตุความไม่สงบอย่างจังหลายครั้ง ครั้งหนึ่งคือที่ตากใบ เกิดเหตุยิงปะทะกันห่างจากที่ผมอยู่ประมาณ 30 เมตร ในที่เกิดเหตุมีผู้เสียชีวิต 1 รายและผู้บาดเจ็บอีก 2 ราย ตอนนั้นผมอยู่ในร้านค้าพาร์ทเนอร์พอดี ผมและน้องในทีมตัดสินใจออกไปช่วยคนเจ็บที่อยู่ข้างนอก ณ เวลานั้นไม่มีใครรู้ว่าโรงพยาบาลอยู่ไหนหรอก แต่รู้เพียงแค่ว่าต้องช่วยพวกเขา ซึ่งสามารถขับรถไปส่งที่โรงพยาบาลได้ทันการณ์ และภายหลังทราบมาว่าเขารอดชีวิต ซึ่งถือเป็นอีกเหตุการณ์ระหว่างทางที่ผมประทับใจ” คุณเอกเล่าอย่าตื่นเต้น
ทั้งสามคนต่างเคยเผชิญกับเหตุการณ์ความไม่สงบทั้งซึ่งหน้าและไม่ซึ่งหน้าบ้าง แต่สิ่งที่ทั้งสามคนกล่าวย้ำคือ “ภาคใต้มีความสวยงามที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม สังคมและประเพณี ความรุนแรงเป็นเพียงแค่มุมหนึ่งเท่านั้น และพวกเขาก็ยังสนุกกับการเดินทาง เพื่อให้ลูกค้าสามารถติดต่อสื่อสาร ยกระดับชีวิตของพวกเขาได้”