มนุษย์ทุกคนล้วนต้องเคยเผชิญกับความผิดพลาดอย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นด้านการเรียน การงาน หรือความรัก แต่หลายครั้ง ย่างก้าวที่พลาดนั้นเกินเลยข้อตกลงของสังคมที่เรียกกันว่า “กฎหมาย” จนทำให้ก้าวที่พลาดนั้นรุนแรงและนำมาซึ่งโอกาสที่หายไป
ศันสนีย์ ธนการโกวิท หรือ แอน หญิงสาววัย 32 จากชลบุรี คืออีกผู้หนึ่งที่เคย “ก้าวพลาด” เข้าสู่วงจรยาเสพติด เธอเล่าเรื่องราวชีวิตให้ dtacblog ฟังว่า ย้อนไปเมื่อช่วงวัยรุ่น เธอเป็นคนที่แก่นเฟี้ยวคนหนึ่ง เริ่มเที่ยวกลางคืนตั้งแต่อายุ 20 ปี ในขณะนั้น เธอทำงานตามผับบาร์ ชอบความสนุกเฮฮา ยิ่งอยู่กับกลุ่มเพื่อนฝูงแล้ว ยิ่งถึงไหนถึงกัน แต่แล้ววันหนึ่ง เธอก็เผชิญกับจุดหักเหสำคัญ เมื่อเพื่อนในกลุ่มคนหนึ่งเอ่ยขึ้นว่า “วันนี้มาทำอะไรสนุกๆ กันดีกว่า” และนั่นจึงเป็นครั้งแรกของศันสนีย์ที่ได้รู้จักกับยาเสพติด
ศันสนีย์อยู่ในวังวนของยาเสพติดเป็นเวลาประมาณ 4 ปี จากผู้เสพขยับสู่ฐานะผู้จำหน่ายรายย่อย โดยมีสาเหตุมาจากเพื่อนของเพื่อนในกลุ่มขอซื้อต่อ จนสุดท้ายถูกซัดทอดและถูกพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 2 ปี
2 ครั้งของการถูกจำกัดเสรีภาพ
จากเดิมที่ศันสนีย์ใช้ชีวิตอย่างอิสระเสรี ห้อมล้อมด้วยเพื่อนฝูงและบรรยากาศชายทะเลของตัวเมืองพัทยาแค่เพียงเอื้อม การถูกจำกัดเสรีภาพภายใต้รั้วลูกกรง ทำให้เธอรู้สึกเหงาและเครียด เธอตั้งหน้าตั้งตารอคอยชีวิตหลังพ้นโทษ
“ช่วงแรกยอมรับเลยว่าเครียดมาก ยิ่งติดยาเสพติดด้วย ก็จะมีอาการเพลียโดยเฉพาะช่วง 2-3 อาทิตย์แรกที่ถึงกับมีอาการน็อกเลย แถมต้องปรับตัวกับความเบียดเสียด และห้องน้ำแบบเปิด แต่เมื่อผ่านหลักเดือนไปได้ ก็เริ่มชินขึ้น ตื่นเช้า อาบน้ำ กินข้าว เข้ากองงาน เป็นกิจวัตรประจำวัน” เธอเล่าชีวิตในเรือนจำ
ข้อมูลจาก World Prison Brief ระบุว่า เรือนจำในประเทศไทยเผชิญกับภาวะนักโทษล้นคุก จัดอยู่ในอันดับที่ 6 ของโลก และเกือบ 80% ของผู้ต้องขังมีความผิดเกี่ยวข้องกับคดียาเสพติด
เมื่อครบกำหนดโทษ ศันสนีย์ได้สัมผัสรสชาติของเสรีภาพอีกครั้ง โชคดี เธอยังมีครอบครัวและมิตรสหายช่วยฝากฝังให้ทำงาน เธอจึงได้ประกอบสัมมาชีพอีกครั้งในฐานะพนักงานห้าง แต่ด้วยความเป็นวัยรุ่น การทำงานประจำเข้างาน 8 โมงเช้า เลิกงาน 5 โมงเย็น ทำให้เกิดความเบื่อหน่ายได้ง่าย ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกันกับเพื่อนกลุ่มเดิมทักทายมาพอดี เธอจึงหวนกลับไปสู่วงจรยาเสพติดอีกครั้ง จนถูกพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 6 ปี และหวนกลับสู่เรือนจำเป็นครั้งที่ 2
“สำหรับครั้งที่ 2 ของการเข้าเรือนจำนี้ ไม่มีแล้วความกลัว แต่กลับเป็นความกังวลมากกว่า” ศันสนีย์กล่าว พร้อมอธิบายเสริมว่า ความกังวลในที่นี้คือ ความกังวลในอนาคต ชีวิตหลังพ้นโทษที่อายุขึ้นหลัก 30 แล้ว แต่ยังชีวิตยังไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ทำให้การใช้ชีวิตในเรือนจำครั้งนี้เปลี่ยนไป
ความเชื่อมั่นส่งต่อพลังผู้ก้าวพลาด
การถูกจำกัดเสรีภาพภายใต้มุ้งเหล็กในครั้งที่ 2 นี้ ศันสนีย์ตั้งเป้าหมายการใช้ชีวิตในการฝึกฝนวิชาเพื่อประกอบอาชีพ โชคดี เจ้าหน้าที่ในเรือนจำเห็นแววจึงให้มาเข้ากองงานเบเกอรี่ในศูนย์ฝึกอาชีพ ด้วยความตั้งมั่น เธอปรารภกับเจ้าหน้าที่ถึงความต้องการในการมีอาชีพ เจ้าหน้าที่เองก็เห็นความตั้งใจนั้น จึงได้เชิญเชฟจากโรงแรมมาสอนการทำเบเกอรี่ในระดับสูงขึ้น
“แรกๆ ก็ทำเบเกอรี่ขายเพื่อนในเรือนจำกันเอง หลังๆ เริ่มมีโครงการส่งขายร้านค้าภายนอก หลังจากนั้นทัณฑสถานหญิงชลบุรี ก็ได้สร้างร้านคาเฟ่มารองรับสินค้า ให้คนภายนอกได้อุดหนุนสินค้าจากผู้ก้าวพลาดโดยตรง เป็นช่องทางให้พวกเราได้พัฒนา เมื่อครบกำหนดโทษแล้ว ก็จะสามารถไปใช้ชีวิตภายนอกได้อย่างแท้จริง” ศันสนีย์เล่า
ด้วยความประพฤติที่ดี ศันสนีย์ได้รับการลดหย่อนโทษและออกจากเรือนจำก่อนกำหนด การออกจากเรือนจำในครั้งนี้ เธอปรารภกับตัวเองและคนรอบข้างว่า “ไม่เอาอีกแล้ว” กระนั้น น้อยคนนักที่จะเชื่อมั่นในความตั้งมั่นของเธอ แม้แต่สมาชิกในครอบครัวก็ตาม
อย่างไรก็ตาม มีองค์กรหนึ่งที่เชื่อมั่นในตัวเธอ และนั่นคือมูลนิธิบ้านพระพร องค์กรการกุศลที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้พ้นโทษฝึกอาชีพและรับดูแลเด็กที่ผู้ปกครองถูกคุมขัง ซึ่งศันสนีย์บอกว่าที่นี่คือ “ครอบครัว” ของเธอ เจ้าหน้าที่และคนในบ้านพระพรคอยให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เป็นแรงกระตุ้นและกำลังใจในการใช้ชีวิตต่อไป
ที่บ้านพระพร ศันสนีย์รับหน้าที่ทำเบเกอรี่ โดยปัจจุบันเธอเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการพัฒนาส่วนงานพัฒนาอาชีพด้านเบเกอรี่ของมูลนิธิ โดยตั้งเป้าพัฒนา “บ้านฉันเบเกอรี่” ให้มีแบรนด์ที่แข็งเกร่ง มีคนรู้จักในวงกว้าง และเป็นโอกาสให้กับผู้ก้าวพลาดได้เข้าถึงทุน รับขนมไปขายโดยไม่ต้องชำระเงินก่อน นอกจากนี้ เธอกำลังจะสั่งสมองค์ความรู้เพิ่มเติมโดยการเข้าเรียนที่วิทยาลัยดุสิตธานีด้วยหวังว่าจะส่งต่อความรู้นี้ให้กับเพื่อนผู้ก้าวพลาดคนอื่นๆ ในเรือนจำด้วย
เปิดโอกาสให้ผู้ก้าวพลาดด้วยโลกออนไลน์
ในขณะที่ศันสนีย์รับโทษอยู่ในเรือนจำเป็นเวลา 6 ปี โลกภายนอกก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งโลกออนไลน์ ทำเธอต้องเรียนรู้ขนานใหญ่ ยิ่งพอได้เป็นหัวเรือสำคัญของศูนย์ฝึกเบเกอรี่ ยิ่งตระหนักได้ว่า การขายออนไลน์น้ันสำคัญมาก เพราะออนไลน์ทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักง่ายกว่า ประมาณการผลิตได้ แต่กระนั้น การขายออนไลน์นั้นไม่ง่ายสำหรับเธอ
“ตอนแรกที่ออกมาจากเรือนจำก็รู้สึกงงๆ ตามไม่ทันทั้งโลกภายนอกและโลกออนไลน์เท่าไหร่ แต่ก็อาศัยเรียนรู้ด้วยตัวเอง และยิ่งได้ทีมโค้ชดีแทค เน็ตทำกินมาช่วยสอนความเข้าใจพื้นฐานและเทคนิคบนโซเชียลมีเดียต่างๆ เช่น TikTok ทำให้ยิ่งสามารถปรับตัวได้เร็วขึ้น” เธอกล่าว
ทีมดีแทค เน็ตทำกิน ซึ่งเป็นพันธมิตรกับสถาบันเพื่อการยุติธรรม (Thailand Institute of Justice) ได้ให้ความรู้ อบรมการใช้โซเชียลมีเดียในแต่ละเพื่อการขายออนไลน์ ไปจนถึงเทคนิคการถ่ายรูปให้สวยงามเพื่อการขายออนไลน์ ซึ่งพอเอาความรู้ทีได้ทำตามอย่างค่อยเป็นค่อยไป จนตอนนี้ บ้านฉันเบเกอรี่ได้รับการตอบรับที่ดี มีออเดอร์สั่งทำทั้งส่งร้านค้าและทำกล่องอาหารว่าง
ปัจจุบัน ศันสนีย์เริ่มนำแบรนด์บ้านฉันเบเกอรี่ไปขายแฟรนไชส์ให้คนที่สนใจ โดยสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจได้เพียงลงทุนแค่ 12,900 บาท ซึ่งจะมาพร้อมกับบูธพร้อมกันสาด ป้ายชื่อร้าน และสินค้ามูลค่า 5,000 บาท โดยมีขนมเปี๊ยะลาวาดั้งเดิมสูตรคุณย่าเป็นตัวชูโรง
“ทุกวันนี้ คนส่วนใหญ่ในสังคมยังไม่เชื่อว่าผู้ก้าวพลาดจะสามารถปรับตัวได้ ออกมาจากคุกก็มักถูกสังคมตีตรา ไม่ให้โอกาส สมัครงานที่ไหนก็ไม่มีใครรับ และนั่นจึงทำให้พวกเขากลับไปทำความผิดซ้ำ เพราะไม่มีที่ไป การยอมรับผู้ก้าวพลาดคืนสู่สังคม คือการแก้ไขปัญหาการกระทำผิดซ้ำอย่างยั่งยืน” ศันสนีย์กล่าว
เธอตั้งเป้าหมายสำคัญคือ การพิสูจน์ให้สังคมให้การยอมรับผู้พ้นโทษว่าพวกเขาเปลี่ยนตัวเองได้จริง ด้วยการส่งมอบความรู้และอาชีพแก่ผู้ต้องขัง หากผู้พ้นโทษขาดที่พึ่งไม่มีที่ไป บ้านฉันเบเกอรี่ก็พร้อมให้ความช่วยเหลือผ่านโมเดลขายของแบบไม่ต้องมีทุนตั้งต้น
ทั้งนี้ ท่านสามารถส่งต่อโอกาส ผ่านการอุดหนุนสินค้าเบเกอรี่ให้กับผู้ก้าวพลาด ได้ที่บ้านฉันเบเกอรี่ หรือ Lineman, Robinhood และ Foodpanda เพียงค้นหาคำว่า เปี๊ยะลาวา บ้านฉัน เบเกอรี่ หรือ โทร 094-6023436