กรุงเทพฯ 7 กันยายน 2566 – การแพทย์และสาธารณสุขไทยก้าวหน้าเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศในด้านบริการบำบัดรักษาและความมั่นคงทางสุขภาพ ซึ่งระบบบริหารจัดการและโลจิสติกส์ที่อยู่เบื้องหลังมีความสำคัญอย่างยิ่ง คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ (LogHealth) และ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น โชว์ความสำเร็จ เปิดตัว ‘นวัตกรรมระบบบริหารจัดการคลังยาและการขนส่งอัจฉริยะในโรงพยาบาล’ ชูประสิทธิภาพของ ‘ต้นแบบโรงพยาบาลอัจฉริยะ’ พร้อมร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายของประเทศสู่ ‘เมดิคัลฮับ’ อย่างยั่งยืน
รศ.นพ.เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมบริการและคุณค่าองค์กร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า โรงพยาบาลศิริราชมุ่งหวังที่จะดูแลผู้ป่วยให้ได้รับการบริการที่มีประสิทธิภาพที่สุดและเกิดปัญหาน้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากการรักษาพยาบาล การรอคอย ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น เพื่อเพิ่มความพึงพอใจให้กับประชาชนผู้รับบริการ ที่สำคัญคือลดค่าใช้จ่ายในการมาหาหมอ โดยการนำเทคโนโลยีมาส่งเสริมให้เกิดการนำนวัตกรรมดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ปัจจุบันโรงพยาบาลศิริราชมีโครงการพัฒนา Smart Hospital ซึ่งร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน โดยได้รับสนับสนุนงบประมาณจาก สำนักงานกิจกรกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อสร้างต้นแบบ ‘โรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital)’ ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยี 5G Cloud และระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาประยุกต์ใช้ในการป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสุขภาพ เพื่อเพิ่มคุณภาพการรักษาพยาบาล สร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ประชาชนที่มารับบริการหนึ่งในนวัตกรรมที่สำคัญในโครงการ คือการพัฒนาระบบบริหารจัดการคลังยาและการขนส่งอัจฉริยะซึ่งเป็นการ ‘ขนส่งแบบไร้คนขับ (Unmanned car)’ ภายในโรงพยาบาล โดยเป็นความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านโลจิสติกส์ในโรงพยาบาล และเทคโนโลยี นวัตกรรมต่างๆที่เข้ามาช่วยพัฒนา และตอบโจทย์ และแก้ปัญหาการจัดการคลังและการขนส่งภายในโรงพยาบาลได้ ผลลัพธ์จากนวัตกรรมนี้ คือ ‘ระบบแพลตฟอร์มขนส่ง TMS-X’ ที่สามารถเชื่อมต่อข้อมูลจากระบบ SAP ผ่านระบบ QR code รวมถึงเชื่อมต่อกับระบบ Neolix ยานยนต์อัจฉริยะไร้คนขับ (5G Unmanned Vehicle)
รศ.ดร.ธนภัทร์ วานิชานนท์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เราก้าวสู่การวิจัยพัฒนานวัตกรรมยุคใหม่ ที่ตอบโจทย์ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนไป เช่นเดียวกับนวัตกรรมบริการทางการแพทย์ในโรงพยาบาลอัจฉริยะ ต้องใช้พหุศาสตร์เพื่อแก้ปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพ ความสำเร็จของ ‘ระบบบริหารจัดการคลังยาและการขนส่งอัจฉริยะภายในโรงพยาบาล’ ในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง ศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อใช้ในการวางแผนจัดตารางการขนส่งยาและสร้างเที่ยวรถในการขนส่งให้กับห้องยาภายในโรงพยาบาล ให้มีประสิทธิภาพ ตรงเวลาและแม่นยำมากที่สุด พร้อมช่วยส่งเสริมและสนับสนุนศักยภาพการให้บริการทางแพทย์ ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อโรงพยาบาลศิริราช ผู้ให้บริการทางการแพทย์ และประชาชน เป็นอย่างยิ่ง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีนโยบายและทิศทางในการบริหารคณะฯ โดยมุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือเชิงบูรณาการทางด้านหลักสูตร การวิจัยระหว่างคณะและข้ามสาขาวิชา ภายในมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อรองรับความต้องการที่เปลี่ยนไปและการพัฒนานวัตกรรมซึ่งเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม และการสร้างโอกาสเชิงพาณิชย์ เพื่อประโยชน์ของประชาชนและทุกภาคส่วน
รศ.ดร.ดวงพรรณ กริชชาญชัย หัวหน้าศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ผลสำเร็จของงานวิจัยและนวัตกรรม “ระบบบริหารจัดการคลังยาและการขนส่งอัจฉริยะภายในโรงพยาบาล” เป็นผลลัพธ์จากการนำศาสตร์ทางด้านโลจิสติกส์มาประยุกต์ใช้ในแง่ของการพัฒนาระบบการพยากรณ์และระบบการจัดการสินค้าคงคลังให้ดีขึ้น ร่วมกับการใช้ศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science) และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) นำไปสู่การพัฒนาโมเดลปัญญาประดิษฐ์โดยสร้างสรรค์ ‘ระบบแพลตฟอร์มขนส่งภายในโรงพยาบาล TMS-X’ ร่วมกับ ยานยนต์อัจฉริยะไร้คนขับ (5G Unmanned Vehicle) เพื่อใช้ในการวางแผนจัดตารางการขนส่งยาให้กับห้องยาภายในโรงพยาบาล ให้มีประสิทธิภาพ ตรงเวลาและแม่นยำมากที่สุด โดยระบบสามารถเชื่อมต่อข้อมูลจากระบบจัดการยอดการเบิก (ระบบ SAP) ผ่านระบบบริหารจัดการคลัง โดยทางทีมได้พัฒนา QR Code เพื่อรวบรวมยอดและจัดการยาและเวชภัณฑ์ในระดับบรรจุภัณฑ์ และส่งต่อให้กับระบบ TMS-X เพื่อคำนวณรอบและตารางการขนส่งที่เหมาะสม ภายใต้เงื่อนไขในการขนส่ง ระยะเวลา กระบวนการต่างๆที่จะเกิดขึ้น ด้วยต้นทุนการขนส่งที่ต่ำที่สุด ซึ่งระบบนี้จะเข้ามาแทนที่กระบวนการขนส่งด้วยรถกอล์ฟและการใช้คนในการกำหนดรอบการขนส่ง ซึ่งในบางครั้งอาจจะเกิดความผิดพลาด เกิดการรอคอยรวมไปถึงเกิดต้นทุนการขนส่งสูง
ประโยชน์ของนวัตกรรม ‘แพลตฟอร์มการบริหารจัดการคลังยาและการขนส่งอัจฉริยะภายในโรงพยาบาล’ นี้ ทำให้โรงพยาบาลมีต้นทุนสินค้าคงคลังของผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ลดลง และมีการพยากรณ์ปริมาณการใช้ยาที่แม่นยำช่วยทำให้การรักษาและการบริการของผู้ป่วยหรือประชาชนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โรงพยาบาลมียาและเวชภัณฑ์ทุกประเภทอยู่ในระดับที่เหมาะสมอยู่เสมอ ผู้ป่วยได้รับยาและเวชภัณฑ์อย่างทันท่วงที คุณภาพการบำบัดรักษาของแพทย์และพยาบาลแม่นยำมากขึ้น ทำให้ระดับความปลอดภัยของผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ปัจจัยความสำเร็จเกิดจากความเชี่ยวชาญของทีมวิจัยพัฒนาและความร่วมมือของผู้ปฏิบัติงานในการให้ข้อมูลและร่วมแสดงความคิดเห็น และความตระหนักถึงประโยชน์ของการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ รวมถึงผู้บริหารที่ให้การสนับสนุนทรัพยากรในด้านต่างๆ ได้แก่ คน เวลา งบประมาณเพื่อสนับสนุนให้งานวิจัยและนวัตกรรมเป็นจริงและบรรลุวัตถุประสงค์
นายพิชิต ธันโยดม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจองค์กร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ด้วยความตั้งใจที่จะนำนวัตกรรมเทคโนโลยี 5G ของทรู คอร์ปอเรชั่น สร้างประโยชน์สูงสุดต่อคนไทยและประเทศไทย โดยเฉพาะการร่วมยกระดับวงการสาธารณสุขของไทย ทรู จึงเดินหน้าความร่วมมือโรงพยาบาลศิริราช สร้างต้นแบบ “โรงพยาบาลอัจฉริยะ(Smart Hospital)” อย่างต่อเนื่อง สำหรับ “ระบบบริหารจัดการคลังยาและการขนส่งอัจฉริยะภายในโรงพยาบาล” ครั้งนี้ ทรูได้พัฒนา ยานยนต์อัจฉริยะไร้คนขับ (5G Unmanned Vehicle) ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า ช่วยลดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม พร้อมทำงานอัตโนมัติด้วย AI ช่วยเพิ่มความปลอดภัย ไร้ข้อจำกัดเรื่องเวลาขนส่งยาและเวชภัณฑ์ เชื่อมโยงผ่านเครือข่ายอัจฉริยะทรู 5G สามารถรับและส่งข้อมูลที่มีความละเอียดสูง เช่น ภาพวิดิโอไปยังระบบฐานข้อมูลบนคลาวด์ เพื่อประมวลผลได้แบบเรียลไทม์ ทั้งยังเชื่อมต่อกับระบบMEC (Multi- Access Edge Computing) ที่มีความความปลอดภัยทางข้อมูลสูง ผสานการทำงานร่วมกับระบบแพลตฟอร์มขนส่งภายในโรงพยาบาล TMS-X ได้อย่างอย่างราบรื่น ไร้รอยต่อและมีความเสถียรสูง มั่นใจว่า นวัตกรรม ยานยนต์อัจฉริยะไร้คนขับ (5G Unmanned Vehicle) จะช่วยผลักดันโรงพยาบาลศิริราชก้าวสู่‘เมดิคัลฮับ’ของประเทศ