Releases

A Year in Review: ปี 2565 จุดเปลี่ยนดีแทคสู่ Growth 2.0

27 ธันวาคม 2565


ปี 2565 นับเป็นอีกปีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วภายหลังวิกฤตการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง ผู้คนออกมาใช้ชีวิตกันเหมือนยุคก่อนโควิด ขณะเดียวกัน เราเห็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลแบบก้าวกระโดด รวมถึงพฤติกรรมดิจิทัลของผู้คนที่เปลี่ยนไป ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ

 

เช่นเดียวกับดีแทค ที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้เผชิญหน้ากับ “การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่” ทั้งจากบทบาทที่มากขึ้นของปัญญาประดิษฐ์ การก้าวสู่ยุค 5G และระบบนิเวศใหม่ของ IoT ที่ได้สร้างกระบวนทัศน์และบทบาทใหม่ให้กับผู้ให้บริการโทรคมนาคม

 

 

dtacblog: A Year in Review ประจำปี 2565 นี้ จึงขอประมวลและสรุปเหตุการณ์อันน่าประทับใจตลอดช่วงปีที่ผ่านมาผ่านบทความภาพ (Photo essay) “ปี 2565 จุดเปลี่ยนดีแทคสู่ Growth 2.0”

 

Beyond Connectivity

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ดีแทคได้ประกาศเดินหน้าวิสัยทัศน์และบริการใหม่ภายใต้กลยุทธ์ Fast Forward Digital พร้อมเปิดตัว dtac app เวอร์ชั่นใหม่ ซึ่งถือเป็นการยกเครื่องใหม่ครั้งแรกในรอบ 3 ปี พร้อมเป้าหมายการเป็น “ซูเปอร์แอป” ตั้งเป้าผู้ใช้งานสู่ 10 ล้านรายต่อเดือนในปี 2566 จากปัจจุบันที่มียอดผู้ใช้ที่ 7.6 ล้านราย แถมยังใช้ได้ถึง 4 ภาษา ได้แก่ ไทย อังกฤษ พม่า และกัมพูชา และเปิดให้ผู้ใช้งานทุกค่ายสามารถเข้าถึงได้

 

 

ซึ่งบริการชูโรงของดีแทคแอปเวอร์ชั่นนี้คือ บริการดีแทคบียอนด์ (dtac Beyond) ซึ่งนำเสนอบริการดิจิทัลอื่นๆ ที่นอกเหนือจากบริการโทรคมนาคม เป็นอีกหนึ่งความพยายามของดีแทคภายใต้กลยุทธ์ “มากกว่าโทรคมนาคม” หรือ Beyond Connectivity ซึ่งในปีที่ผ่านมา ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น dSurance กับเป้าหมายสู่การเป็นศูนย์รวมประกันออนไลน์ชั้นนำของไทย Gaming Nation ที่ประสบความสำเร็จทั้งในแง่ผู้ใช้งานและรายได้ จนนำมาสู่ Gaming Nation 2.0 ที่ร่วมกับพาร์ทเนอร์ระดับโลก หรือ dtac Safe บริการด้านความปลอดภัยไซเบอร์ที่มีผู้ใช้งานเกินเป้าหมายที่ 60,000-70,000 ต่อเดือนและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

 

 

นอกจากนี้ ยังได้เปิดตัว dtac app lite ซึ่งเป็น dtac app เวอร์ชั่นเบากว่า ช่วยให้ผู้ใช้งานมือถือศักยภาพไม่สูงเข้าถึงบริการของดีแทคได้อย่างทั่วถึง ภายใต้กลยุทธ์ ดีทั่ว ดีถึง ดีไปด้วยกัน หรือ Digital Inclusion

 

 

“ดีทั่วดีถึง ดีไปด้วยกัน” ไม่ใช่เพียงแท็กไลน์สวยๆ แต่ดีแทคทำจริงจังผ่านสินค้าและบริการที่ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม โดยนอกจากทีมงานคอลเซ็นเตอร์ที่เป็นผู้พิการทางการมองเห็นแล้ว เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ดีแทคยังได้เปิดตัวบริการ “คอลเซ็นเตอร์ภาษามือ” ที่ให้บริการโดยผู้พิการทางการได้ยิน เพื่อผู้พิการทางการได้ยิน โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือกับสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย และกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

 

 

“ดีทั่วดีถึง ดีไปด้วยกัน” ยังครอบคลุมถึงธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ดีแทคต้องการเสริมสร้างศักยภาพ ให้พวกเขาเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการระดับโลก เพื่อให้สามารถเติบโตและแข่งขันในยุคดิจิทัล โดยล่าสุด ดีแทคจับมือกับ Telenor และ Google Cloud พัฒนา B-Lab แพลตฟอร์มโซลูชันครบวงจร เพื่อช่วยให้ธุรกิจ SMEs ในไทยรับมือกับการเปลี่ยนผ่านดิจิทัล พร้อมทั้งเติบโตและมีกำไร จากการเข้าถึงศูนย์กลางความรู้และซอฟต์แวร์ที่ปรับแต่งเฉพาะในรูปแบบ Software as a Service (SaaS) และโซลูชันการเชื่อมต่อผ่านมือถือ

 


 

อย่างไรก็ดี การสร้าง Growth 2.0 นั้น ต้องอาศัยการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ดิจิทัล (Digital transformation) อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งในเชิงกลยุทธ์ ระบบ วิธีการ ไปจนถึงการให้บริการ โดยหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ดีแทคใช้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คือกระบวนการ Automation (ออโตเมชัน) ซึ่งนำซอฟต์แวร์กลุ่ม Robotics Process Automation (RPA) อันเป็นระบบการทำงานอัตโนมัติเข้ามาใช้เพื่อช่วยย่นระยะการทำงานที่เป็นลักษณะ rule-based หรือต้องทำซ้ำๆ เป็นกิจวัตร ช่วยลดภาระงานและยกระดับการทำงานของพนักงานทั้งในส่วนหน้าร้านและหลังบ้าน พร้อมทั้งสร้างประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นสำหรับลูกค้า

นอกจากนี้ ดีแทคยังเดินหน้าพัฒนาโครงการ “Citizen Developer” เพื่อฝึกอบรมพนักงานทั่วไปที่สนใจเกี่ยวกับการพัฒนาโปรแกรม แต่ไม่มีความเชี่ยวชาญด้านการเขียนโค้ดมาก่อน ให้สามารถนำระบบออโตเมชันมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทำงานได้ด้วยตัวเองอีกด้วย

 

Empowering Societies


 

เป้าหมายสำคัญประการหนึ่งของดีแทค ไม่ใช่แค่เพียงการประกอบธุรกิจ แต่คือการสร้างเสริมศักยภาพสังคมผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลที่ดีแทคเชี่ยวชาญ ซึ่งหนึ่งในโครงการที่ดีแทคภูมิใจอย่างยิ่งคือ โครงการวิจัยโรงเรือนเกษตรอัจฉริยะ กรณีศึกษาเห็ดหลินจือ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนา และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ซึ่งประสบความสำเร็จนับเป็น Breakthrough ทางเทคโนโลยีการเกษตรท่ามกลางความท้าทายทางสภาพอากาศ นำเทคโนโลยี 5G เชื่อมต่อ IoT และ Machine Leaning ช่วยเพิ่มความแม่นยำในการเพาะปลูก และตอนนี้โครงการนั้นก้าวเข้าสู่ระยะที่สองเป็นที่เรียบร้อย

 

 

ด้วยความเชื่อที่ว่าบริการโทรคมนาคมนั้นเป็นมากกว่าบริการโทรคมนาคม แต่คือเเพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงภาคส่วนต่างๆ เข้าหากัน ภายใต้แนวคิด Rebuilding Thailand ดีแทคจึงร่วมมือกับคณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และบุญมีแล็บ ในการวิจัยแนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองผ่าน Mobility data ซึ่งถือเป็นการใช้ประสิทธิภาพจาก Mobility data เพื่อประโยชน์สาธารณะภายใต้นโนบายความเป็นส่วนตัวอย่างเคร่งครัด ถือเป็นโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องด้านการท่องเที่ยวของไทยได้ใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ในการปรับแผนการ-นโยบายได้แม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งมาพร้อมกับ Mobility Data Dashboard ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วไทย

 

ภายใต้สังคมที่ขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ดีแทคมุ่งมั่นจะพาทุกคนเดินหน้าไปพร้อมกัน และนี่จึงเป็นที่มาของโครงการดีแทค เน็ตทำกิน ซึ่งในปีที่ผ่านมา ทีมได้เดินสายไปทั่วประเทศ เพื่อให้ความรู้และยกระดับทักษะดิจิทัลให้กับกลุ่มคนเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นผู้สงวัย หรือกลุ่นชนเผ่าพื้นเมือง ในการใช้เครื่องมือออนไลน์เพื่อสร้างโอกาสและรายได้

 


 

เพราะดีแทคเชื่อว่าเทคโนโลยีดิจิทัลคือโอกาสแห่งความเท่าเทียม เราจึงพยายามขยายโอกาสนั้นเท่าที่จะมากได้ผ่านองค์ความรู้ผ่านทีมโค้ชดีแทคเน็ตทำกิน ซึ่งอีกหนึ่งกลุ่มเป้าหมายที่ดีแทคตั้งมั่นในการส่งมอบโอกาสนั้นคือ “ผู้ก้าวพลาด” เพื่อปูทักษะดิจิทัลและสร้างโอกาสด้านอาชีพ เพื่อให้พวกเขาสามารถกลับคืนสู่สังคมได้อย่างยั่งยืน

 

 

“เด็กและเยาวชน” ถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มเป้าหมายที่ดีแทคให้ความสำคัญ โดยมุ่งเน้นส่งเสริมการสร้างภูมิคุ้มกันดิจิทัลผ่านโครงการ dtac Safe Internet ซึ่งในเมษายนที่ผ่านมา ดีแทคได้ประเดิมจัดค่าย Young Safe Internet Leaders Cyber Camp ปีที่ 4 บนค่ายเสมือนจริงแบบ Metaverse ที่เป็น Cybersecurity sandbox พื้นที่เรียนรู้และทดลองพัฒนาโครงการรับมือภัยเสี่ยงออนไลน์ในประเทศไทย โดยในปีนี้ dtac Safe Internet สามารถเข้าถึงเด็กและเยาวชนมากกว่า 300,000 คน

 

โครงข่ายที่คุณไว้ใจ

2565 เป็นอีกปีที่ประเทศไทยประสบอุทกภัยรุนแรง โดยเฉพาะในจังหวัดอุบลราชธานี และพระนครศรีอยุธยา ชาวบ้านในพื้นที่อยู่ในสภาพบ้านจมน้ำเป็นเวลาหลายเดือน

 

เพราะการสื่อสารมีความสำคัญยิ่งต่อทุกชีวิตในการรับมืออุทกภัย วิกฤตที่เกิดขึ้นนี้ยิ่งทำให้พนักงานด่านหน้าและทีมวิศวกรของดีแทคต้องทำงานหนักกว่าเดิม เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงการสื่อสารและบริการพื้นฐานต่างๆ ที่จำเป็น ซึ่งพวกเขาพร้อมใจและรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการเชื่อมต่อผู้คนกับทุกสิ่งที่สำคัญ

 



 

ผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศเป็นสิ่งที่ประจักษ์ชัด และส่งผลกระทบต่อผู้คนนับล้าน ดีแทคในฐานะองค์กรเอกชนและหน่วยของสังคมมีความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนอย่างจริงจัง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดของสถานีฐาน โดยได้ใช้พลังของข้อมูลมาจากทีม Data Analytics มาช่วยในการเปลี่ยนผ่านได้อย่างแม่นยำและคุ้มค่าการลงทุนมากขึ้น เพื่อขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง “ครึ่งหนึ่ง” ภายในปี 2573

 

รางวัลที่ขอมอบให้คนดีแทค “ทุกคน”

จะเห็นได้ว่า เส้นทาง Growth 2.0 ล้วนมี “ผู้คน” เป็นส่วนสำคัญในการประกอบสร้าง ผู้คนที่เท่าเทียมและหลากหลาย จนดีแทคได้รับการสนับสนุนจาก United Nations Development Programme (UNDP) ให้เป็นองค์กรต้นแบบแห่งความเท่าเทียม ควบคู่กับอีกสององค์กรอย่างแสนสิริและยูนิลีเวอร์ นอกจากนี้ ดีแทคยังสามารถคว้ารางวัลจากเวที HR Excellence Awards Thailand มาได้ถึง 4 รางวัล ทั้งด้านความหลากหลาย เสมอภาค และเท่าเทียม ความเป็นเลิศในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจยุคใหม่ HR Tech และความเป็นเลิศขององค์กรนายจ้าง

 



 

ไม่เพียงเท่านั้น ดีแทคยังคว้ารางวัลด้านการตลาดมาครองได้รวมแล้วกว่า 30 รางวัลทั้งจากไทยและต่างประเทศ โดยล่าสุดคว้ารางวัลจากเวที Adman Awards 2022 มาได้ถึง 22 รางวัล พร้อมด้วยรางวัลจาก MAAT Media Awards 2022 7 รางวัล

 

และอีกหนึ่งความภาคภูมิใจที่สะท้อนถึงความร่วมแรงร่วมใจของคนดีแทคคือ การได้รับการคัดเลือกเข้าสู่รายชื่อหุ้นยั่งยืน (Thailand Sustainability Investment: THSI) ประจำปี 2565 จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในฐานะบริษัทจดทะเบียนที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) ในปีนี้ ดีแทคมีคะแนนเติบโตก้าวกระโดดในมิติสิ่งแวดล้อม รางวัลดังกล่าวยังสะท้อนเจตนารมณ์เข้มข้นในการรักษามาตรฐานธรรมาภิบาลและการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้สังคมไทย

 


จากภาพที่ dtacblog ประมวลมาทั้งหมด อาจเรียกได้ว่าเป็นเพียงจิ๊กซอว์ชิ้นเล็กๆ ที่กำลังจะเติมเต็มสู่ภาพวาด Growth 2.0 ในอนาคตอันใกล้ แต่เบื้องหลังของ Growth  2.0 นี้ แน่นอนว่ามี คนเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโต ไม่ว่าจะเป็นพนักงานดีแทค ลูกค้า พาร์ทเนอร์ ไปจนถึงชุมชนที่เราเข้าไปดำเนินธุรกิจก็ดี


สวัสดีปีใหม่ 2566 มาร่วมขับเคลื่อน Growth 2.0 ไปด้วยกัน


Related Content