Releases

แม่ค้าออนไลน์ไลฟ์กันยังไงปั้นสู่ยอดขายหลักล้าน

05 มิถุนายน 2562


เดี๋ยวนี้ เวลาไปห้างสรรพสินค้าใจกลางกรุงเทพฯ หรือตลาดนัดตามต่างจังหวัด ภาพที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดคือการที่พ่อค้าแม่ขายหลายราย ยืนพูดอยู่กับโทรศัพท์มือถือ ซึ่งบนหน้าจอนั้นเปิดแอปพลิเคชันเฟสบุ๊ก ขณะเดียวกันก็กำลังยืนขายสินค้าของตัวเองไปด้วย ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เห็นอย่างแพร่หลายขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

 

คำถามคือ มีคนดูไลฟ์เหล่านั้นด้วยเหรอ

 

คำตอบคือ มี และมีจำนวนมากด้วย

 

ถ้ายังจำได้ การโปรโมทขายของสมัยก่อนจะต้องถ่ายคลิปให้เสร็จ แล้วนำมาตัดต่อลงเฟสบุ๊ก ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับการทำโฆษณาโทรทัศน์ แต่หลังจากที่เฟสบุ๊กได้ปล่อยฟีเจอร์ “เฟสบุ๊กไลฟ์” ออกมาเมื่อปี พ.ศ.2559 ทำให้ผู้ใช้เฟสบุ๊กไม่ว่าจะเป็นใครก็ได้สามารถไลฟ์ผ่านมือถือได้อย่างอิสระ สามารถดูคอนเทนท์และโต้ตอบกับผู้ไลฟ์ได้อย่างเรียลไทม์

 

ซึ่งแน่นอนว่าฟีเจอร์นี้ได้รับความนิยมในประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง เพราะด้วยพลังโซเชียลมีเดียที่ประเทศไทยมียอดผู้ใช้เฟสบุ๊กถึงจำนวน 48 ล้านแอคเคาท์ รั้งตำแหน่งที่ 8 ของประเทศที่ผู้ใช้เฟสบุ๊กสูงสุดในโลก

 

และแน่นอนว่าฟีเจอร์ “Live” นี้ เหมาะกับจริตคนไทยเป็นอย่างมาก ไถฟีดเมื่อใดก็มักจะเห็นคนไลฟ์อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะกิน จะนอน จะเที่ยว เรียกได้ว่าเป็น “ปรากฏการณ์” ที่สร้างพฤติกรรมออนไลน์รูปแบบใหม่ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวไทย

 

ที่สำคัญไปกว่านั้น ผู้ใช้เฟสบุ๊กคนไทยยังใช้ฟีเจอร์ “ไลฟ์” เพื่อจุดประสงค์ทางการค้า หรือพูดง่ายๆ คือไลฟ์ขายของ ซึ่งมีตั้งแต่เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เครื่องสำอาง ผ้าไหม หรือแม้แต่ทองรูปพรรณ ซึ่งถือเป็นพฤติกรรมใหม่ที่น่าสนใจของไทยในการนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์เชิงการค้า เปลี่ยนภูมิทัศน์ของการค้าขายไทยสู่อีคอมเมิร์ซเต็มรูปแบบมากขึ้น

 

จากร้อยสู่ล้านของบังฮาซันและหมาขายหมึก

 

 

ณ ตอนนี้ คงไม่มีใครไม่รู้บังฮาซัน เจ้าของเพจ “อาหารทะเลตากแห้ง จ.สตูล” ซึ่งโด่งดังในโลกออนไลน์ ซึ่งสามารถสร้างรายได้กว่า 1 ล้านบาทในแต่ละคืนผ่านการไลฟ์เฟสบุ๊ก ด้วยลีลาและท่าทางที่เป็นเอกลักษณ์ในการนำเสนอสินค้า ความเร้าใจและการพูดที่ยังคงกลิ่นอายของภาษาถิ่นที่น่าเอ็นดู การชูจุดขายทางด้านความเชี่ยวชาญของการเป็นชาวประมง ทำให้มีผู้ชมและลูกค้าติดตามในแต่ละคืนกว่า 100,000-400,000 คนเลยทีเดียว ซึ่งสามารถสร้างยอดขายมูลค่านับ “ล้าน” บาทในแต่ละคืน

 

ซึ่งผลิตภัณฑ์ทั้งหมดเป็นสินค้าทะเลตากแห้ง ตั้งแต่ปลาเค็ม กุ้งแห้ง ปลาาหมึกตากแห้ง ปลาหมึกอบกรอบของชุมชนท้องถิ่นกว่า 30 ครัวเรือนของ อ.ปากบารา จ.สตูล

 

ด้วยผลตอบรับขนาดนี้ ทำให้บังฮาซันจากเดิมที่ทำยอดขายได้เพียงหลักร้อย มีบังเพียงคนเดียวที่ไลฟ์และขายของเอง จนตอนนี้ที่มียอดขายกว่า 1 ล้านบาทต่อคืน ต้องเพิ่มทีมแอดมินเพจเป็น 5-6 คน และทีมงานสนับสนุนอีกว่า 45 คนที่ทำหน้าที่ในการบรรจุ การขนส่งและการจัดหาสินค้า

ความสำเร็จของการไลฟ์จนมาสู่ยอดขายนับล้านบาทต่อคืนนี้ ปัจจัยสำคัญคือ “การเล่าเรื่อง” ที่มาและการผลิตของสินค้า รวมไปถึงจะนำสินค้าไปปรุงอาหารที่หลากหลาย

 

ที่ดีแทค เรามีโครงการ “เน็ตอาสา” ซึ่งดำเนินการมาแล้วกว่า 5 ปี โดยมีจุดประสงค์เพื่อแนะนำให้คนไทยเข้าถึงและใช้อินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์ เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งหนึ่งในหลักศูตรที่ทีมดีแทคเน็ตอาสาลงไปคลุกคลีกับชุมชนก็คือ การสร้างยอดขายผ่านโซเชียลมีเดียเหมือนกรณีของบังฮาซัน

หมาขายหมึก เป็นอีกหนึ่งร้านค้าชุมชนที่ทีมดีแทคเน็ตอาสาเข้าไปสอนการใช้โซเชียลมีเดียในการสร้างยอดขาย ซึ่งมีคลิปหนึ่งที่มียอดผู้ชมกว่า 1 ล้านวิว ทำให้เป็นที่รู้จักของชาวจันทบุรีและจังหวัดอื่นๆ และมียอดขายที่เพิ่มขึ้น

 

 

ด้วยความคิดสร้างสรรค์และกลเม็ดเด็ดพรายในการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อการขาย ไม่ว่าจะเป็นการประมูล การเล่นเกมตอบคำถาม ทำให้การขายผ่านการไลฟ์ได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น อีคอมเมิร์ซก็เติบโตตามไปด้วย

 

ไลฟ์ชอปปิ้ง: เกมเร่งอีคอมเมิร์ซไทย

 

จากรายงานเรื่อง Shifts for 2020 ของเฟสบุ๊กมีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2563 กว่าครึ่งของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตโลกจะมีการชอปปิ้งออนไลน์ และสมาร์ทโฟนจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในโลกค้าปลีกออนไลน์ และ 75% ของการใช้ดาต้าจะเกิดขึ้นจากการดูคลิปวิดีโอ

 

ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา มีรายงานข่าวว่าเฟสบุ๊กกำลังทดสอบฟีเจอร์ใหม่ที่จะช่วยให้แบรนด์หรือผู้ขายออนไลน์สามารถอธิบายและสาธิตการใช้งานสินค้าผ่านไลฟ์พร้อมกับการชำระเงินได้สะดวกมากขึ้นผ่าน Messenger ไม่ต้องใช้หลายแอปเหมือนในปัจจุบัน

 

ในขณะที่อีกฟากหนึ่งอย่าง Lazada ผู้ให้บริการแพลทฟอร์มอีคอมเมิร์ซได้ออกฟีเจอร์ Lazada Livestream เพื่อให้ผู้ใช้สามารถซื้อและขายได้อย่างสะดวกมากขึ้นผ่านการไลฟ์ โดยฟีเจอร์นี้ได้รับการพัฒนาร่วมโดย Lazada AliCloud และ Taobao ทำให้การไลฟ์มีประสิทธิภาพและสะดวกมากขึ้น ซึ่งสามารถรอบรับผู้ชมได้ถึง 100,000 ราย

 

ทั้งนี้ ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ตลาดอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการเติบโตราว 62% เนื่องจากประสบการณ์การใช้งานที่ดีขึ้น ขณะที่ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยเติบโตถึง 14% ในปีที่ผ่านมา มูลค่าราว 3.2 ล้านล้านบาท โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) คาดการณ์ว่าจะเติบโตถึง 20% ในปีนี้

 


Related Content