- ดีแทค แอคเซอเลอเรทชี้ 90% ของสตาร์ตอัพไทยติดกับดัก Series A
- เปิดหลักสูตร A Academy ช่วยผลักดันสตาร์ตอัพไทยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนจาก VCs
- เชื่อมโยงเทคโนโลยีจากธุรกิจสตาร์ตอัพมาช่วยสร้างระบบนิเวศน์ 5G พัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทย
20 กุมภาพันธ์ 2562 – ดีแทค แอคเซอเลอเรท เปิดโครงการ ปี 7 จัดหลักสูตรใหม่ A Academy สำหรับสตาร์ตอัพ ที่จัดอยู่ในกลุ่มการลงทุน ระดับซีรี่ส์ A ซึ่งเป็นการลงทุนของกลุ่มนักลงทุนในระดับ Venture Capital และ Corporate Venture Capital ที่มีมูลค่าการลงทุนจะอยู่ในช่วง 1 – 15 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเป็นเงินไทยที่ 33 – 495 ล้านบาท เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในภูมิภาคเอเชียและระดับโลก หลังพบว่าสตาร์ตอัพไทยติดกับดัก ซีรี่ส์ A หรือ Series A bottleneck ไม่สามารถโตต่อไปได้
นางอเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ดีแทคมีความตั้งใจที่จะนำเอาดีแทค แอคเซอเลอเรท สตาร์ตอัพเข้ามาช่วยสนับสนุนการดำเนินธุรกิจใน 2 ด้านหลักคือ
- สร้างพลังในการขับเคลื่อนองค์กรใหญ่ของดีแทค ไปสู่ Digital Transformationโดยการปรับวัฒนธรรมการทำงานในองค์กรแบบอไจล์ (Agile) ที่นำเอาแนวคิดการทำงาน และที่ปรึกษาสตาร์ตอัพ จาก ดีแทค แอคเซอเลอเรท เข้ามาช่วยปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานของพนักงานในองค์กร เพื่อพัฒนางานให้ได้ประสิทธิภาพตามเป้าหมาย
- การสร้างระบบนิเวศน์ เป็นหัวใจสำคัญของการเปิดให้บริการ 5G รวมทั้งหากรณีศึกษา เพื่อการใช้งานจริงในโลกธุรกิจ ดีแทค แอคเซอเลอเรท เป็นหนึ่งในภารกิจหลักของดีแทคจะช่วยผลักดันให้เกิดบริการที่สร้างสรรค์ โดยได้นำเอาแพลตฟอร์มของสตาร์ตอัพ มาช่วยสนับสนุนต่อยอดนำเทคโนโลยีมาพัฒนาบริการ ที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจและสังคมโดยการแสวงหาความร่วมมือ จากหลายหน่วยงาน และนำเอาสตาร์ตอัพเข้าร่วมโครงการทดสอบ 5G Testbed สนามทดลองขนาดใหญ่เพื่อเร่งรัดการพัฒนาระบบ 5G โดยมีแพลตฟอร์มจากสตาร์ตอัพ Ooca และ Globlish เข้าร่วมทดสอบด้วย”
ปลดล็อคสตาร์ตอัพไทย ขึ้นแท่นยูนิคอร์น
ปัจจุบันดีแทค แอคเซอเลอเรทมีสตาร์ตอัพที่ผ่านการระดมทุนระดับ Series A จำนวน 6 ธุรกิจในขณะที่ยังมีอีก 23 ธุรกิจที่ผ่านการระดมทุนระดับเริ่มต้น (Seed) โดยมูลค่าของการระดมทุนจะอยู่ในช่วง 20,000 – 50,000 เหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทยอยู่ที่ 600,000 – 1.5 ล้านบาท ซึ่งยังไม่สามารถระดมทุนต่อไปถึง Series A ได้ ดังนั้นจึงเปิดตัวโครงการ A Academy นี้ขึ้นมาเพื่อที่จะช่วยผลักดันให้ธุรกิจสตาร์ตอัพเหล่านั้นให้ก้าวไปสู่การระดมทุนระดับ Series A โดยในโครงการนี้ จะมุ่งเน้นไปที่การเตรียมความพร้อมสำหรับ การระดมทุนในรอบการระดมทุนที่มีมูลค่าสูง รวมไปถึงการเข้าถึงลูกค้าที่มากขึ้น และการนำเทคโนโลยีขั้นสูง เข้ามาปรับใช้กับธุรกิจ เช่น นำการเรียนรู้ของ Machine Learning และAI มาปรับใช้กับธุรกิจ เป็นต้น ในโครงการนี้ ได้เชิญ VC ชั้นนำของภูมิภาคเอเชีย เช่น 500Tuktuks/ Golden Gate Ventures/ Line Ventures/ KK Fund และ Monk’s Hill Ventures เข้ามาให้ความรู้เกี่ยวกับการระดมทุน การจัดรูปแบบด้านการเงิน และแบ่งปันเทคนิคต่างๆ และยังได้ร่วมมือกับ Google Launchpad Accelerator นำหลักสูตรผู้บริหาร ของ Google “Leaders Lab” ซึ่งถือเป็นหนึ่งในหลักสูตรผู้บริหารสำหรับบริษัทเทคโนโลยีที่ดีที่สุด มาฝึกอบรมให้กับสตาร์ตอัพ รวมถึงผู้เชียวชาญด้าน Machine Learning และAI จาก Amazon Web Service และ Google Cloud
หลักสูตร A Academy นับเป็นโครงการที่จะช่วยให้ธุรกิจสตาร์ทอัพสามารถที่จะสร้างมูลค่าของบริษัทให้ได้ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ โครงการนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสตาร์ตอัพสัญชาติไทยที่เป็นหนึ่งในโครงการดีแทค แอคเซอเลอเรท ให้กลายเป็นยูนิคอร์นต่อไป สำหรับเป้าหมายของดีแทค แอคเซอเลอเรท ปี 7 คือ มองหาธุรกิจที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมทางด้านสุขภาพ เกษตรกรรม อสังหาริมทรัพย์ พลังงาน e-commerce การท่องเที่ยว insurtech และอื่นๆ
การลงทุนในสตาร์ตอัพไทย ตกต่ำลงเป็นปีแรก
นายสมโภชน์ จันทร์สมบูรณ์ กรรมการผู้จัดการ ดีแทค แอคเซอเลอเรท กล่าวถึง ในประเทศไทยมีสตาร์ตอัพไม่ถึง 10% ที่ได้รับการลงทุนจาก Seed ไปถึง Series A อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นตัวเลขที่น้อยมาก นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ดีแทค แอคเซอเลอเรท เข้ามาช่วยปลดล็อคการลงทุนใน Series A เพื่อช่วยให้ สตาร์ตอัพไทย เติบโตต่อไปได้และไม่กลายเป็นซอมบี้ (Zombie) ซึ่งในกลุ่มสตาร์ตอัพ ดีแทค แอคเซอเลอเรท มีถึง 25% ที่สามารถระดมทุนจาก Seed ถึง Series A ซึ่งเราอยากที่จะเพิ่มอัตราส่วนการลงทุนในสตาร์ตอัพไทยให้ได้มากกว่านี้
การลงทุนในสตาร์ตอัพไทยข้อมูลจาก Techsauce Startup Report 2561 ระบุถึงสถิติการลงทุนในสตาร์ตอัพไทย ตั้งแต่ปี 2558 มีการลงทุนเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนถึงปี 2561 ที่ผ่านมา การลงทุนลดลงเหลือเพียง 61 ล้านเหรียญสหรัฐ จากปี 2560 ที่มีจำนวน 105 ล้านเหรียญสหรัฐ เพราะไม่มีการลงทุนในดีลใหญ่ๆที่มีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาท เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา
สาเหตุหลักที่ไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่มี 3 ประการคือ
- นักลงทุนหันไปลงทุนในประเทศ กลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มากกว่าในไทย เช่น ไปลงทุนที่เวียดนาม เนื่องจากมีคนที่มีความสามารถทางด้านเทคโนโลยีที่มากขึ้น ทำให้เวียดนามสามารถดึงดูดนักลงทุนให้ไปลงทุนได้มากกว่า ในเวียดนามมีการลงทุนถึง 890 ล้านเหรียญสหรัฐ จาก 92 ดีล
- การแข่งขันที่รุนแรง จากแพลตฟอร์มซุปเปอร์แอป (super app) ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นที่ครอบคลุมทุกบริการ และต้องการให้ผู้บริโภคเข้ามาใช้งานเป็นประจำทุกวัน ทำให้สตาร์ตอัพในกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก และขนาดกลาง ต้องออกจากธุรกิจไป เนื่องจากสู้กับซุปเปอร์แอปเหล่านี้ไม่ได้ เช่น Line และ Grab ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ซุปเปอร์แอปดังกล่าว แสวงหาความร่วมมือกับพันธมิตร หรือควบรวมกิจการ สร้างอีโคซิสเต็ม ขยายบริการใหม่ๆ ที่ตอบสนองผู้ใช้งานได้ครบครันในแอปเดียว เช่น บริการ ส่งของ ส่งอาหาร บริการด้านการเงิน ทำให้ผู้ใช้งานสะดวกสบาย โดยไม่ต้องใช้แอปอื่น
- ต้นทุนในการได้มาซึ่งลูกค้า (Customer Acquisition Cost: CAC) เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจสตาร์ตอัพจำนวนมากจึงเริ่มที่จะเปลี่ยนรูปแบบจาก B2C (Business to Consumer) คือการที่ธุรกิจขายสินค้าและบริการให้แก่ผู้บริโภคทั่วๆไปโดยตรง ไปสู่ B2B (Business to Business) ทำธุรกิจโดยขายสินค้าหรือบริการ ให้กับ
ลูกค้าที่เป็นลูกค้าองค์กร ไม่ใช่รายบุคคล เพื่อสร้างรายได้ที่มากขึ้น ซึ่งรูปแบบธุรกิจ แบบB2B ที่มีศักยภาพในการเติบโตแบบก้าวกระโดด (scalable business model) ได้นั้นก็ทำได้ยาก
ในปี 2561 ที่ผ่านมา มีการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพสัญชาติไทยทั้งสิ้น 34 รายการ โดยมีมูลค่าระดมทุนทั้งสิ้น 61 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมี 7 รายการที่เป็นสตาร์ตอัพจาก ดีแทค แอคเซอเลอเรท โดยมีมูลค่าระดมทุนทั้งสิ้น 11 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบเท่ากับ 17% ของการลงทุนทั้งหมดที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในปี 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งธุรกิจสตาร์ตอัพไทยที่ประสบความสำเร็จ ได้แก่ Fastwork ซึ่งเป็นสตาร์ตอัพที่มีมูลค่าการระดมทุนสูงที่สุดในระดับ Series A ที่ผ่านมา นอกจากนี้ Ricult เองก็ได้รับการระดมทุนระดับ Seed Fund ที่สูงที่สุดของหมวดเกษตรกรรมประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยเช่นกัน ปัจจุบันดีแทค แอคเซอเลอเรท มีสตาร์ตอัพในโครงการรวมทั้งสิ้น 46 ธุรกิจ ซึ่งมีอัตราความสำเร็จของธุรกิจคิดเป็น 70% โดยคิดเป็นมูลค่ารวมอยู่ที่ 5.1 พันล้านบาท และมีปริมาณการระดมทุนคิดเป็นมูลค่า 870 ล้านบาท
ดีแทค แอคเซอเลอเรท เปิด 2 หลักสูตร สร้างสตาร์ตอัพไทย และสตาร์ตอัพ Series A
ดีแทค แอคเซอเลอเรท ปี 7 เปิด 2 หลักสูตร คือ
- หลักสูตรบ่มเพาะสตาร์ตอัพน้องใหม่ ทั้งในระดับ Incubator Track สำหรับ ผู้ที่มีไอเดีย แต่ยังไม่เกิดเป็นธุรกิจและ Accelerator Track สำหรับธุรกิจที่ต้องการเติบโตอย่างรวดเร็ว
- หลักสูตร A Academy สำหรับสตาร์ตอัพในครอบครัวดีแทค แอคเซอเลอเรท ที่จัดอยู่ในกลุ่มการลงทุนระดับ ซีรี่ส์ A โดยร่วมกับ Google / 500 สตาร์อัพ และ VCs กลุ่มนักลงทุนชั้นนำในเอเชีย เป็นการสนับสนุนเส้นทางการหาเงินทุน ที่จะช่วยให้สตาร์ตอัพได้เงินทุนในมูลค่าถึง 100 ล้านเหรียญ และช่วยผลักดันสตาร์ตอัพในครอบครัวดีแทค แอคเซอเลอเรท ได้เป็นยูนิคอร์นจากประเทศไทย เป็นรายแรก