คุณอเล็กซานดรา ไรช์ CEO ดีแทค ได้เผยวิสัยทัศน์ในงาน Super Productive Talk เมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 ที่ผ่านมา เกี่ยวกับทิศทางในอนาคต ที่โลกจะขับเคลื่อนด้วยพลังความคิดสร้างสรรค์ การรู้จักยอมรับความพ่ายแพ้ และทัศนคติที่จะไม่หยุดพัฒนา ซึ่งคุณอเล็กซานดราได้พูดถึงประเด็นดังกล่าวว่า
“สวัสดีค่ะ
ดิฉันรู้สึกทึ่งกับการมารับฟังเรื่องราวของเหล่าสปีกเกอร์ของทุกคนในวันนี้ และมันก็เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า พวกคุณที่มานั่งในฮอลล์นี้เป็นบุคคลที่โปรดักทีฟมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง เพราะด้วยที่บัตรขายหมดออกไปภายใน 10 นาทีและพวกคุณก็คว้าโอกาสนั้นไว้ได้ น่าประทับใจมากค่ะ
ก่อนที่เราจะเริ่มต้น ดิฉันขอกล่าวกับพวกคุณอย่างตรงไปตรงมาว่า ดิฉันค่อนข้างระมัดระวังอย่างยิ่งเมื่อจะต้องใช้คำว่า “โปรดักทีฟ” เพราะดิฉันไม่ค่อยเชื่อว่าทำไมเราต้องมีความโปรดักทีฟเท่าไรนัก โดยความเชื่อส่วนตัวมองว่าความคิดสร้างสรรค์และทักษะทางสังคมเป็นสิ่งที่จะทำให้เราเหมาะกับยุคอนาคตที่ปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามามีบทบาทกับชีวิต
ในชีวิตของดิฉัน มีเด็กหนุ่ม 2 คนที่มีอิทธิพลต่อความคิดเกี่ยวกับการแสวงหาเส้นทางชิวิตของดิฉันเป็นอย่างมาก และก่อนที่จะได้รับเรื่องราวแรงบันดาลใจสุด Super Productivity ในวันนี้ ดิฉันขอเล่าเรื่องราวของ 2 คนนี้ ซึ่งคนหนึ่งมีจุดจบของชีวิตอย่างน่าเศร้าแม้จะเผชิญกับความสำเร็จมามากมายก็ตาม ขณะที่อีกคนเดินทางจากที่อยู่สุดแร้นแค้นในประเทศเนปาลจนจบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยจากฟินแลนด์
เด็กหนุ่มคนแรกเป็นคนที่ดิฉันเป็นพี่เลี้ยงให้ตอนดิฉันทำงานอยู่ที่บริษัท ซันไรส์คอมมูนิเคชั่นส์ ที่สวิสเซอร์แลนด์ ตอนนั้นเขาเป็นเด็กหนุ่มไฟแรงจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ มีหน้าตาที่หล่อเหลาเอาการ เรียกได้ว่าครบเครื่องเลยทีเดียว แต่แล้ว วันหนึ่ง เขาสมัครงานไปบริษัทแห่งหนึ่งและสุดท้ายเขาถูกปฏิเสธจากงานนั้น ไม่กี่วันให้หลังเขาก็ตัดสินใจปลิดชีพตัวเองในห้องของเขาที่บ้าน
ฉันคิดว่าฉันลืมไปว่าความสูญเสียนี้กำลังจะเกิดขึ้น มันช่างเป็นความสูญเสียที่เศร้าจริงๆ และฉันก็ไม่ได้คาดคิดว่าคนที่ประสบความสำเร็จมาทั้งชีวิตอย่างเขา จะมองว่าการถูกปฏิเสธเพียงครั้งเดียวเป็นความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง
ในท้ายที่สุด ฉันก็ตระหนักได้ว่าชีวิตของเด็กหนุ่มคนนี้ถูกขับเคลื่อนจากสิ่งที่สังคมคาดหวังว่าควรจะเป็น ต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ถึงจะประสบความสำเร็จ แม้ว่าเขาได้รับการศึกษาที่มีน้อยคนเทียบได้ ได้รับการฝึกงานในองค์กรที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ได้ทำงานในสถาบันที่เรียกได้ว่าเป็นสุดยอดแห่งหนึ่งของโลก แต่เพียงแค่การถูกปฏิเสธเพียงครั้งเดียวจจะทำให้ชีวิตทั้งชีวิตที่สร้างมาล้มมลายหายไป
แต่ขณะที่อีกคนหนึ่งนามว่า ชิมมี่ (Chhimi) เด็กหนุ่มอายุ 14 ปีในขณะนั้นจากนครกาฏมัณฑุ ประเทศเนปาล ครอบครัวดิฉันต้อนรับเขาในฐานะนักเรียนแลกเปลี่ยน และวันนี้ดิฉันก็ได้ตัดสินใจรับเลี้ยงเขาเป็นลูกชายอีกคนหนึ่งของครอบครัวไรช์
ชิมมี่เกิดในพื้นที่ห่างไกลบนเทือกเขาที่ความสูง 4,500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลในประเทศเนปาล ด้วยความที่ฐานะยากจน ทำให้พ่อแม่ของชิมมี่พยายามมองหาโอกาสในการส่งลูกๆ ของเขาไปยังโรงเรียนประจำในเมืองหลวงเพื่อได้รับการศึกษาและอนาคตที่ดี แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องแลกกับการไม่ได้อยู่ใกล้ชิดลูกๆ จนกระทั่งพวกเขาเรียนจบระดับชั้นมัธยมศึกษา
ครั้งแรกที่ดิฉันพบกับชิมมี่ เขาไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้แม้แต่คำง่ายๆ ทุกอย่างเป็นสิ่งที่แปลกใหม่สำหรับเขาทั้งหมด ตั้งแต่ตู้เย็นไปจนถึงเครื่องหั่นขนมปัง มันเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับเขาในการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวสำหรับเรา ในช่วงแรก เขาไม่มีความมั่นใจกับอะไรทั้งสิ้น แต่โดยธรรมชาติแล้ว ดิฉันเป็นคนที่มักถ่ายทอดความรู้สึกจากการสัมผัส ดังนั้น ฉันจะกอดเขาเสมอ บางครั้งชิมมี่อาจมองฉันแล้วพูดกับตัวเองก็ได้ว่า ยัยผู้หญิงแปลกหน้าคนนี้กำลังพยายามอะไรกับฉันเนี่ย และนั่นเป็นความยากสำหรับฉันเหมือนกัน
สิ่งที่ชิมมี่มีคือความนอบน้อม ความพร้อมที่จะทดลอง ที่จะล้มเหลวในบางสิ่ง ก่อนที่จะทำมันได้ดี เมื่อเดือนที่แล้ว ฉันนั่งอยู่ในรถคันใหม่ที่เขาซื้อด้วยตัวเขาเองที่เฮลซิงกิ เขาพูดกับฉันว่า “แม่ครับ ผมขับรถได้แย่มาก แม่ขับละกัน” ดิฉันก็ได้ปฏิเสธไป แล้วเขาก็ขอเคล็ดลับกับฉันเพื่อทักษะการขับรถที่ดีขึ้น
ชิมมี่ไม่เคยหยุดที่จะเรียนรู้ เขาไม่เคยหยุดที่จะเติบโต ด้วยการเปิดใจ ความนอบน้อมและความกระตือรือร้น ทำให้เติบใหญ่เป็นคนที่น่ารักและมีสเน่ห์ เขารายล้อมไปด้วยเพื่อนๆ และได้สร้างชุมชนที่น่าทึ่งในฟินแลนด์ เมื่อดิฉันให้เงินเขาเป็นของขวัญวันเรียนจบ เขาขออนุญาตดิฉันนำเงินนั้นไปซ่อมแซมบ้านพ่อแม่ของเขาที่เนปาล ซึ่งได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อปี 2015
และนี่ก็เป็นตัวอย่างของเด็กหนุ่ม 2 คน ซึ่งมีแนวทางของชีวิตที่แตกต่างกันมาก คนหนึ่งยอมรับตัวเองจากสิ่งที่สังคมกำหนด ขณะที่อีกคนเลือกตามเส้นทางที่เขากำหนดเอง คนหนึ่งไม่ยอมรับความล้มเหลว ส่วนอีกคนเรียนรู้และเติบโตจากความล้มเหลว
ความหมายที่แท้จริงของการทำงาน
ชิวิตของเด็กหนุ่ม 2 คนนี้ได้สอนฉันถึงบทเรียนอันสำคัญเกี่ยวกับการเรียนรู้จากความผิดหวังและความล้มเหลว มันไม่ใช่แค่เรื่องของการประสบความสำเร็จเท่านั้น แต่ยังเป็นการมีความสุขกับเส้นทางและวิถีในการเรียนรู้ พวกเขาสอนฉันถึงความสำคัญของการฟังเสียงใจตัวเอง และไม่ให้เสียงของคนอื่นดังกว่าเสียงของตัวเอง
ตั้งคำถามกับเป้าหมายของตัวเอง ถามตัวเองว่ามันเป็นสิ่งที่คุณต้องการจริงๆ หรือ หรือมันเป็นเพียงสิ่งที่คนอื่นต้องการ
ดิฉันเองก็ตั้งคำถามนั้นกับดิฉันเองด้วยเช่นกัน ด้วยอายุอานามก็ 54 แล้ว ดิฉันมาทำอะไรในต่างประเทศ การเป็นซีอีโอเป็นสิ่งที่ดิฉันต้องการจริงๆ หรือ คำตอบคือ “ไม่” เป้าหมายที่แท้จริงของดิฉันคือ การอยู่ในตำแหน่งที่สร้างแรงกระเพื่อมหรือการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง
ตอนที่ดิฉันตัดสินใจร่วมงานกับดีแทค แน่นอนว่ามันไม่ง่ายเลย ทั้งความไม่แน่นอนจากหลายปัจจัยตลอดหลายปี ทำให้คนดีแทคเองก็ค่อนข้างรู้สึกสิ้นหวัง หรือแม้กระทั่งมีความเสี่ยงที่จะไม่มีคลื่นความถี่เพื่อให้บริการกับลูกค้า แต่สิ่งหนึ่งที่ดิฉันสัมผัสได้คือ “ความหวังและความเชื่อ” ของคนดีแทค ซึ่งนั่นได้ให้ความรู้สึกว่าดิฉันสามารถสร้างความแตกต่างที่นี่ได้
ดิฉันไม่ได้สู้เพื่อที่จะได้มาซึ่งคลื่นความถี่ 900 MHz สำหรับดีแทค เพื่อแค่เพียงความก้าวหน้าในอาชีพหรือเพื่อผู้ถือหุ้นเท่านั้น แต่เพื่อผู้คนและชุมชนชาวดีแทค สำหรับดิฉันแล้ว การได้สร้างการเปลี่ยนแปลงทำให้ดิฉันมีโอกาสได้มองเข้าไปในตาของเพื่อนร่วมงานและเห็นความไว้วางใจที่พวกเขามีในงานและทำมันด้วยความรัก เพราะพวกเขาเชื่อว่ามันสร้างคุณค่าและสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริง
ดิฉันมีความโชคดีอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมงานที่ดีแทค ได้รู้ว่าชัยชนะคือการแบ่งปันที่ดีที่สุด ดิฉันเคยได้ร่วมทีมนักกีฬากอล์ฟทีมชาติออสเตรีย และเมื่อดิฉันชนะการแข่งขันระดับนานาชาตินั้น แต่นั่นเป็นทัวร์นาเม้นท์ที่ดิฉันแข่งในระดับบุคคล และเมื่อขึ้นไปรับถ้วยรางวัล แต่พอลงมาแล้วกลับช่างเดียวดาย ไม่มีใครร่วมกันแชร์ความรู้สึกที่ดีต่อกัน และนั่นทำให้ดิฉันรู้ว่า ชัยชนะร่วมกันมันเป็นความรู้สึกที่ดีมากกว่าชัยชนะอันแสนโดดเดี่ยว พอมองกลับไปแล้ว จุดสูงสุดของชีวิตนักกีฬาของดิฉันก็แอบน่าผิดหวังนิดหนึ่ง
เรื่องราวทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นของดิฉัน ของน้องเลี้ยง หรือของชิมมี่ หรือของคนดีแทคเอง ได้สอนดิฉันถึงความหมายที่แท้จริงของการทำงาน คือการเรียนรู้ การเผชิญกับปัญหา และการก้าวผ่านไปด้วยกัน มีความสุขกับทุกย่างก้าวของการทำงาน ไม่ว่าสิ่งที่เผชิญจะดีหรือร้ายก็ตาม
ความรักและการเอาใจใส่: ศักยภาพของมนุษย์ในยุคของหุ่นยนต์
ดิฉันขอเริ่มจากการเอ่ยถึงคนที่ฮอตที่สุดคนหนึ่งในยุคนี้ คนๆ นั้นคือ แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา หนึ่งในสตาร์ตอัพรายใหญ่ของโลก ซึ่งเขาเขียนโค้ดดิ้งไม่เป็นแม้แต่บรรทัด
ในระหว่างการดีเบทกับอีลอน มัสต์ เจ้าพ่อแห่งเทคโนโลยีและผู้ก่อตั้งเทสล่า แจ็ค หม่าแสดงทรรศนะว่า ในอนาคตมนุษย์เราจะทำงานกันเพียงแค่ 12 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพราะหุ่นยนต์เเละเครื่องมือต่างๆ จะทำงานแทนเรา และด้วยการทำงาน 12 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในอนาคตอันใกล้ ดิฉันอยากจะถามพวกคุณว่า แล้วในหนึ่งวันนั้นคุณจะทำอะไร
ดิฉันไม่สงสัยในความทะเยอทะยานและความตั้งใจของพวกคุณในการหาทางเพื่อประสบความสำเร็จ และนั่นเป็นเหตุผลว่าคุณมาที่นี่เพื่อมาหาแรงบันดาลใจ หาวิธีเพื่อประสบความสำเร็จ แต่ว่าเครื่องจักรก็สามารถโปรดักทีฟได้เหมือนกัน ในความเป็นจริงแล้ว เครื่องจักรมันฉลาดกว่าเราแล้วด้วยซ้ำไป ทั้งในแง่ของความจำและงานที่ทำแบบซ้ำเดิม แต่สิ่งที่เครื่องจักรทำไม่ได้ก็คือ ความรักและการเอาใจใส่ ซึ่งก็เหมือนอย่างที่แจ็ค หม่าได้พูดไว้ว่า คอมพิวเตอร์มีแค่ชิป แต่มนุษย์มีหัวใจ และนั่นคือหัวใจ ซึ่งเป็นที่มาขององค์ความรู้นั่นเอง
อย่าตกอยู่ในการนิยามผิดๆ ของคำว่า Productivity โดยทำงานอย่างหนัก แล้วไม่มีเวลาเพื่อปล่อยใจให้ว่าง เพื่อคิดว่าสิ่งที่คุณอยากทำจริงๆ การมีความทะเยอทะยานเป็นสิ่งที่ดีในช่วงเริ่มต้น แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ มีความสุขในสิ่งที่ทำ มีความสุขเมื่อประสบความสำเร็จ และมีความอ่อนน้อมอยู่เสมอ พร้อมทั้งแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างทางให้ผู้อื่น ไม่เพียงแค่ถึงเป้าหมายแล้วจบ
ก่อนที่เราจะเริ่มออกเดินทาง ขอให้ใช้เวลาสักนิดฟังเสียงหัวใจตัวเอง มันกำลังบอกอะไรกับคุณ และคุณต้องการมันจริงหรือเปล่า
ขอบคุณค่ะ ขอให้สนุกกับการออกเดินทางนะคะ”