ทรู ผนึก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ห่วงใยคนไทย เร่งมาตรการป้องกัน “ยุทธการปราบซิมผี ล่าบัญชีม้า” ตัดวงจรแก็งค์คอลเซ็นเตอร์ หยุด! อาชญากรรมทางเทคโนโลยี

26 กันยายน 2567


กรุงเทพฯ 26 กันยายน  2567 : ทรู คอร์ปอเรชั่น ผนึกกำลัง ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย  ร่วมกันป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ใน “ยุทธการปราบซิมผี ล่าบัญชีม้า” โดยระดมกวาดล้างจับกุมผู้กระทำผิดในคดีเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี  และการกระทำผิดเกี่ยวกับซิมผี บัญชีม้า  โดยทรู คอร์ปอเรชั่น ห่วงใยและพร้อมปกป้องคนไทยจากปัญหาเหล่านี้ ซึ่งได้ดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อช่วยลดความเดือนร้อนของประชาชน  อาทิ ปิดเสาสัญญาณทั้งหมดตามแนวชายแดนไทย-ลาว และ กัมพูชา นำเทคโนโลยี AI และ Data Analytic ประมวลข้อมูลการลงทะเบียนซิมที่มีความเสี่ยงจะนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง รวมถึงมาตรการที่เข้มงวดให้คู่ค้าต้องลงทะเบียนซิมทันทีทุกการขาย เป็นต้น

 

 

นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์  หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ทรูตระหนักถึงความสำคัญของอาชญากรรมทางเทคโนโลยี  ที่มาจากทั้งแก็งค์คอลเซ็นเตอร์ หรือเว็บไซต์พนันออนไลน์ นำมาซึ่งการถูกหลอกลวงของผู้คนมากมาย สร้างความสูญเสียทั้งทรัพย์สินและบางรายอาจถึงชีวิต เราพร้อมให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อช่วยปกป้องคนไทยจากมิจฉาชีพออนไลน์ โดยเฉพาะ “ยุทธการปราบซิมผี ล่าบัญชีม้า” นี้  ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ได้ระดมกวาดล้างและปราบปรามกลุ่มมิจฉาชีพทางเทคโนโลยีที่หลอกลวงประชาชนในทุกมิติ ทั้งตัดเส้นทางการเงิน ปิดกั้นโซเชียลมีเดียหลอกลวง และเว็บพนันออนไลน์ อันนำไปสู่การกระทำผิดกฏหมายของเหล่ามิจฉาชีพ ส่งผลกระทบต่อประชาชนชาวไทย ระบบเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ

 

 

 

นอกจากนี้ ทรู ยังมุ่งดำเนินการอย่างจริงจัง  ทั้งการทำธุรกรรมออนไลน์ผ่านทรูมันนี่  ระบบจะตรวจสอบและยืนยันตัวตนก่อนทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยของลูกค้าในการใช้งาน  รวมถึงได้ยกระดับแนวทางและมาตรการต่างๆ ดังนี้

 

  1. ปิดเสาสัญญาณทั้งหมดตามแนวชายแดนไทย-ลาว และ กัมพูชา เพื่อป้องกันมิให้มีการนำสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการก่ออาชญากรรม ซึ่งเป็นการปฎิบัติตามแนวทางกสทช.
  2. นำ AI และ Data Analytic ประมวลข้อมูลการลงทะเบียนซิมที่มีความเสี่ยงจะนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง เพื่อคัดกรองและหยุดกระจายซิมที่มีความเสี่ยงทันที ส่งผลให้จะลดจำนวนซิมที่อาจถูกนำไปใช้ในทางผิดกฎหมายได้ถึง 500,000 ซิมต่อปี
  3. เข้มงวดให้คู่ค้าต้องลงทะเบียนซิมทันที ทุกการขาย เพื่อป้องกันการแอบอ้างชื่อนำซิมไปใช้งานในทางที่ผิดและเพื่อความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าทั้งทรูและดีแทค
  4. วางมาตรการเข้มงวดรัดกุมเพื่อให้คู่ค้าปฎิบัติตาม หากคู่ค้าไม่ปฎิบัติตามข้อกำหนด จะเริ่มจากตักเตือน ลดค่าตอบแทนการขาย และยกเลิกการเป็นคู่ค้าในที่สุด
  5. สนับสนุนการทำงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชี้เบาะแสเพื่อปิดตู้ซิมที่ช่วยเหลือคนร้ายในการลงทะเบียนซิมอันนำไปสู่การกระทำผิดกฏหมายของเหล่ามิจฉาชีพ
  6. ติดต่อแจ้งเบาะแสตำรวจทันทีกับที่พบว่า กลุ่มบุคคลที่อาจเป็นมิฉฉาชีพเข้ามาขอซื้อซิมกับร้านค้าภายในห้างสรรพสินค้า เพื่อให้ดำเนินการต่อได้ทันท่วงที
  7. หากพบพื้นที่หรือสถานที่ใด มีหมายเลขที่มีการโทรผิดปกติจากหมายเลขเดียว เช่นในคอนโด ที่อาจเป็น Sim Box จะรีบแจ้งเบาะแสตำรวจ
  8. หากตรวจสอบหรือได้รับแจ้งหมายเลขต้องสงสัยทั้ง ทรูมูฟ เอช และ ดีแทค ที่มีการใช้งานโทรออกมากผิดปกติ  จะส่ง SMS ไปยังหมายเลขดังกล่าวพร้อมระงับการใช้เบอร์ต้องสงสัยทันที เพื่อให้ติดต่อกลับยืนยันตัวตนว่าเป็นผู้ใช้งานจริงและดูแลไม่ให้ได้รับผลกระทบในการใช้บริการ
  9. ออกเบอร์โทรพิเศษ “โทร 9777 ให้โทรแจ้งเบอร์สงสัยเป็นมิจฉาชีพ หรือ SMS หลอกลวงเพื่อประสานงานตรวจสอบกับกสทช. และศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (PCT) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  10. หากยืนยันเป็นเบอร์ที่สงสัยเป็นมิจฉาชีพ จะส่งข้อมูลให้แอปพลิเคชันระบุตัวตนสายเรียกเข้าที่ไม่รู้จัก Whoscall ช่วยเพิ่มในระบบแจ้งเตือน

 

 

 

 


Related Content